สธ. เผยผลปราบปรามผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนอย่างเข้มงวด ตั้งแต่มกราคม 58-ปัจจุบัน จำนวน 18 ราย มูลค่าของกลาง 19 ล้านบาท และผลตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ณ สถานที่ผลิต นำเข้า และจำหน่าย เขตกรุงเทพฯ ปี 2556-2558 พบไซบูทรามีน ซึ่งมีผลข้างเคียงสูง เตือนอย่าซื้อยาลดความอ้วนกินเองและอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนทางสื่อต่าง ๆ พร้อมแนะวิธีการลดความอ้วนที่ดีที่สุดต้องประกอบด้วยการควบคุมอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น ลดการบริโภคของหวาน มัน ของทอด และต้องออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอการใช้ยาลดความอ้วนสามารถนำมาใช้เพียงเพื่อเสริมวิธีการดังกล่าวแค่พียงในระยะสั้นเท่านั้นเมื่อเลิกใช้ยาจะมีโอกาสสูงในการกลับมาเป็นโรคอ้วนดังเดิม ดังนั้นผู้ที่ต้องการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ทุกครั้ง
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมาพบมีหญิงสาวเสียชีวิต ที่คาดว่ามาจากการกินผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน หลายราย ทั้งพริตตี้ นักศึกษา ล่าสุด นักเรียน ม 5 ย่านนนทบุรี ที่ต้องมาจบชีวิตก่อนวัยอันควร กระทรวงสาธารณสุข รู้สึกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลการใช้ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนอันตราย เพื่อคุ้มครองประชาชน ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนในปัจจุบันมักตรวจพบว่า มีการลักลอบใส่สารไซบูทรามีนซึ่งเป็นยาที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้แล้วตั้งแต่ปี 2553
โดยยาดังกล่าวจะส่งผลทำให้ลดความอยากอาหารลงและอิ่มเร็วขึ้น แต่ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ตรวจสอบสถานที่ผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วงปี พ.ศ.2556-2558 และได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงข้อบ่งใช้ในการควบคุมหรือลดน้ำหนักส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีละ 50 ตัวอย่างพบว่าในปี พ.ศ.2556 ตรวจพบไซบูทรามีน จำนวน 13 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 26 ปี พ.ศ.2557 ตรวจพบ จำนวน 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 32 และ ปี พ.ศ.2558 ตรวจพบ จำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ปราบปรามจับกุมผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่ผิดกฎหมายดังกล่าวมาโดยตลอดทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 - ปัจจุบัน สามารถจับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำผิด จำนวน 18 ราย มูลค่าของกลาง จำนวน 19 ล้านบาท
ภ ก . ป ร ะ พ น ธ์ อ า ง ต ร ะ กูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ยาลดความอ้วนจะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง เพราะมีผลกระทบสุขภาพและชีวิต อีกทั้งต้องใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร และ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสมอ การใช้ยาลดความอ้วนไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วน เมื่อหยุดยาน้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก (yo-yo effect)การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง คือ การควบคุมอาหาร เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคด้วยการลดแป้ง ลดอาหารหวาน ลดอาหารมัน อาหารทอด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ผู้ปกครองควรมีส่วนช่วย ในการสอดส่องดูแลบุตรหลานที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักตัวมากเกินไปและมีแนวโน้มในการใช้ยาลดความอ้วนให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ยา
พร้อมกันนี้ ขอเตือนว่าการซื้อยาต้องซื้อจากร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตและมีเภสัชกรให้คำแนะนำในการใช้ยา ไม่สามารถซื้อหรือขายยาทางเว็บไซต์ หรือโซเชี่ยลมีเดียได้และเป็นการกระทำที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ ส่วนผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายมีโทษหลายกรณี เช่น ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาทเป็นต้น
หากผู้บริโภคพบเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่าย ยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
ข่าวเด่น