กระทรวงมหาดไทยสั่งเดินหน้ามาตรการเตรียมพร้อมป้องกันและระงับการเกิดอัคคีภัย ย้ำทุกหน่วยต้องบูรณาการและทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย
วันนี้ (12 มิ.ย.2559) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับวาระ “ประเทศไทยปลอดภัยหรือ Safety Thailand” โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยวพร้อมรับมือกับภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับจากสถิติการเกิดอัคคีภัยในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าการเกิดอัคคีภัยในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มความถี่และความรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัย ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงสร้างความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศจำนวนมหาศาล รวมทั้งเพื่อให้การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและระงับอัคคีภัยในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำชับหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ดำเนินการตามมาตรการเตรียมพร้อมป้องกันและระงับการเกิดอัคคีภัยใน 3 ด้าน ดังนี้
1.ด้านการผังเมืองและการควบคุมอาคาร ให้มีการทบทวน/ปรับปรุงแนวทางการวางผังเมือง โดยคำนึงถึงการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงภัยใหม่และลดความเสี่ยงภัยที่มีอยู่เดิม เช่น การกำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) การก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ การควบคุมมาตรฐานการออกแบบอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด การตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคาร และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ เช่น บันไดหนีไฟ ช่องประตูสู่บันไดหนีไฟ ระบบสัญญาณเตือนภัย เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ แบบแปลนแผนผังของอาคาร ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ฯลฯ รวมทั้งการควบคุมการใช้อาคาร โดยจะต้องทำการตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี และตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี โดยเฉพาะอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด อาคารโรงงาน และป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย รวมทั้งจะต้องเร่งรัดให้เจ้าของอาคารเก่า ที่ก่อสร้างก่อนมีการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ดำเนินการแก้ไข/ปรับปรุงอาคารให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว
2.ด้านการลดความเสี่ยงและป้องกันอัคคีภัย ให้มีการประเมินความเสี่ยงอัคคีภัย เพื่อให้ทราบถึงระดับความเสี่ยงและความรุนแรงของอัคคีภัย ตลอดจนขีดความสามารถ และพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบในการวางแผนเตรียมความพร้อมรับอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และให้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัยให้สอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในรูปแบบ “ประชารัฐ” รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์และยานพาหนะสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัยให้เพียงพอและพร้อมใช้ปฏิบัติงานอยู่เสมอ และเพื่อทดสอบความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงศักยภาพของหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยให้จัดการฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยเป็นประจำสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Safety Mind)
3.ด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการอัคคีภัย ให้สร้างความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานด้านวิชาการในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัยร่วมกัน รวมทั้งให้จัดทำสรุปบทเรียนการเกิดอัคคีภัยครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ (Lesson Learnt) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการอัคคีภัย และการปรับปรุง/พัฒนามาตรฐานการปฏิบัติของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า อัคคีภัยเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และระบบเศรษฐกิจอย่างมากมาย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของบุคลากรและหน่วยงานในการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดอัคคีภัย รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานให้มีมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยเน้นการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยเพื่อป้องกันภัยตามหลักสากล คือ รับรู้ – ปรับตัว – ฟื้นเร็วทั่ว – อย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบ รวมทั้งเตรียมความพร้อม เพื่อให้ประชาชนหรือชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีองค์ความรู้ ขีดความสามารถและทักษะ พร้อมที่จะรับมือกับสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
ข่าวเด่น