นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์มีเป้าหมายในการดำเนินงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มเป็น 1.21 หมื่นล้านบาทต่อปี ภายในปี 2563 จากในปีงบประมาณ 2559 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท โดยจะมีการปรับสัญญาค่าเช่าเชิงพาณิชย์ใหม่ และจะเรียกบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หารือเพื่อปรับสัญญาค่าเช่า หลังจากจะหมดสัญญาสิ้นปีนี้
"จะนำราคาที่ดินที่ประเมินใหม่ล่าสุด และราคาตลาดมาเปรียบเทียบ เบื้องต้นจะใช้แนวทางการจัดเก็บบนฐานคำนวณรายได้ของผู้เช่าที่ราชพัสดุอยู่ที่ 5% ของรายได้ทั้งหมด แต่หากเป็นโครงการขนาดใหญ่ 40 ล้านบาทขึ้นไป อาจจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณา"อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าว
สำหรับรายย่อยที่เช่าที่ราชพัสดุมีทั้งหมด 1.6 แสนสัญญา มีเพียง 5,000 ราย ที่เป็นการเช่าเชิงพาณิชย์ ที่เหลือเป็นการเช่าเพื่อที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม ส่วนผู้เช่ารายใหญ่มีเพียง 7 รายที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 1,559 ล้านบาท, บมจ.ปตท. 561 ล้านบาท, บมจ.ไทยออยล์ 200 ล้านบาท, บจ.ไปรษณีย์ไทย 122 ล้านบาท, ท, บมจ.กสท โทรคมนาคม 169 ล้านบาท บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล 126 ล้านบาท และบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ 122 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะแก้ไขปัญหาที่ราชพัสดุที่มีปัญหา ทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมเพิ่มขึ้นทั้งการแก้ไขสัญญา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างอัยการสูงสุด พิจารณาแก้ไขสัญญา หากพิจารณาเสร็จแล้วจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบทันที และการเจรจากับ บริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ บีเคทีเกี่ยวกับค่าชดเชย ค่าก่อสร้างฐานราก และระยะเวลาการบริหารโครงการพื้นที่หมอชิต คาดดำเนินการเสร็จภายในงบประมาณ 2559 นี้
กรมธนารักษ์ยังเตรียมจัดทำบัญชีค่าเช่าใหม่ทั้งหมด เนื่องจากค่าเช่าต่ำมาก เช่น บางพื้นที่ 25 สตางค์ต่อปี สูงสุดเพียง 10 บาท ขณะที่บางรายนำพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปปล่อยเช่าต่อในราคาหลักหมื่นหลักแสนบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อนำมาใช้ในการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2560 จะทำให้รายได้กรมธนารักษ์เพิ่มขึ้น
ข่าวเด่น