ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน 10 ประเทศ


 


วันนี้ (14 มิถุนายน 2559) ที่โรงแรมแชงกรี–ล่า กรุงเทพฯ  นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวันไข้เลือดออกอาเซียน ครั้งที่ 6 ว่า วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บูรไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา กำหนดให้เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศร่วมกันแก้ไขป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ สำหรับปี 2559 นี้ เป็นครั้งที่ 6 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวัดไข้เลือดออกอาเซียนภายใต้คำขวัญ “ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” (Community Empowerment A Sustainable Success to Fight Dengue)
 
     
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมวันนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรคหรือผู้แทนในประเทศกลุ่มอาเซียนและผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมประชุมวิชาการเพื่อหารือความร่วมมือในการป้องกันโรคไข้เลือดออก และสรุปข้อตกลงร่วมกัน “Bangkok Call for Action”  ส่วนเนื้อหาในการประชุม ประกอบด้วย การพัฒนาวัคซีนโรคไข้เลือดออกและโอกาสในการนำวัคซีนมาใช้  การทำหมันยุง การมีส่วนร่วมของชุมชน และการระดมความคิดกิจกรรมไข้เลือดออกอาเซียนในอนาคต เป็นต้น  นอกจากการประชุมแล้ว ในวันพรุ่งนี้ (15 มิถุนายน 2559) ประเทศไทยยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล  สกลสัตยาทร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี  โดยมีกิจกรรมมากมาย  เช่น การสำรวจลูกน้ำยุงลาย การเดินเคาะประตูบ้าน เป็นต้น
 
     
โดยสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน  ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ในประเทศเขตร้อนชื้นที่มีอุณหภูมิเหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ยุงลายพาหะนำโรค และเป็นปัญหาระดับนานาชาติ ทุกประเทศได้ดำเนินมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้ยังไม่สามารถควบคุมโรคให้ได้ดี หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จึงมุ่งมั่นศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นนวัตกรรมในการป้องกันโรคไข้เลือดออกเรื่อยมาจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ปัจจุบันบางประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ได้เริ่มนำวัคซีนมาทดลองใช้ในกลุ่มเสี่ยง ส่วนประเทศไทย ก็ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยร่วมกับองค์กรต่างๆเช่นกัน ความสำเร็จที่เกิดได้อย่างยั่งยืนคือความร่วมมือของชุมชนอย่างจริงจังที่จะกำจัดยุงลายด้วยวิธีต่างๆที่แนะนำตามคำขวัญดังกล่าว
 
          
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม-7 มิถุนายน 2559 มีผู้ป่วยแล้ว 18,337 ราย เสียชีวิต 16 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดคือภาคกลาง รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ  ซึ่งปีนี้ กรมควบคุมโรค คาดการณ์จากการพยากรณ์โรคว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้นอีกและอาจมากกว่า 166,000 ราย หากไม่มีการจัดการและการควบคุมโรคที่ดี โดยในปีที่ผ่านมา(ปี 2558) พบผู้ป่วย 144,952 ราย เสียชีวิต 147 ราย สาเหตุหลักของโรคนี้เกิดจากยุงลาย เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้านเรือนของประชาชน ยุงชนิดนี้จะหากินช่วงกลางวัน 
         
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการของประเทศไทย ในการป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้เน้นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ 1)การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า นอนในมุ้ง ทายากันยุง จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง และการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น  2)ป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้วิธี 3 เก็บ (เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ) เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  และ 3)การกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย เป็นต้น   
   
 ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงและมักสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตัว เบื่ออาหาร ปวดจุกแน่นท้อง อาจมีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ขอให้ประชาชนอย่าได้วางใจ ถ้ามีไข้สูงต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยาแก้ไข้กินเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่าย  นอกจากนี้ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น(Application) “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” ได้ทั้งระบบ Android และ iOS โดยเข้าไปที่ Play Store หรือ App Store แล้วค้นหาคำว่า “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” กดรับ/ติดตั้ง ฟรี ใช้งานง่ายและเป็นประโยชน์  หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2559 เวลา : 13:59:13

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:40 am