นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนสวัสดิการสังคมช่วยเหลือประชาชนตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสำหรับเด็กและครอบครัว สวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผู้ด้อยโอกาส และสวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการให้เงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามนโยบายในแต่ละรัฐบาล อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการจัดสวัสดิการสังคมและการให้เงินช่วยเหลือของภาครัฐยังมีข้อจำกัด โดยภาครัฐไม่สามารถกำหนดนโยบายการให้เงินช่วยเหลือต่างๆ ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบายกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง และขาดข้อมูลผู้มีรายได้น้อยเป็นรายบุคคลที่บูรณาการข้ามหน่วยงาน
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละโครงการเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ และกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้พิจารณาดำเนินการโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมในโครงการ e-Payment ภาครัฐ
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 จึงได้มีมติรับทราบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) ว่างงานหรือมีรายได้ทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นในแต่ละปีปฏิทินไม่เกิน 100,000 บาท และเป็นรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) โดยผู้ลงทะเบียนจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น รายได้ การถือครองทรัพย์สินของตน เจ้าหนี้และจำนวนหนี้สินที่คงค้าง เป็นต้น เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐ
2) มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย
2. กลไกการดำเนินการ
1) ลงทะเบียน ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 สำหรับปีต่อๆ ไปให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 30 กันยายน ของแต่ละปี
2) สถาบันการเงินตามข้อ 1) จัดเก็บเอกสารแล้วส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกรมสรรพากรเพื่อจัดเก็บข้อมูลและทำการตรวจสอบความถูกต้องในภายหลัง (Post Audit)
3) กรมสรรพากรเชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อประมวลข้อมูลผู้มีรายได้น้อย นำไปบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมแล้วนำไปใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมภายใต้โครงการ e-Payment ภาครัฐในระยะต่อไป
3. ประโยชน์ที่จะได้รับ ช่วยทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากการลงทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลรายได้ ทรัพย์สิน และการเป็นหนี้สิน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทราบข้อมูลและสามารถนำไปกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ข่าวเด่น