ธ.ก.ส.จับมือ สกว. พัฒนางานวิจัย สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและชุมชน ธ.ก.ส. ร่วมมือกับ สกว. ผลักดันความร่วมมือด้านวิชาการ นำผลงานสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 2 อาคาร ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ บางเขน โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. และนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมลงนาม ซึ่งได้รับเกียรติจากนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ และนางปัทมาวดี โพชนุกูล กรรมการธนาคารร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีการลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนางานวิจัย รวมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
การลงนามดังกล่าวได้นำเสนอตัวอย่างนิทรรศการผลงานวิจัยของ สกว. ที่เกษตรกรนำไปปรับใช้เพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ ช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชน เช่น การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อผลิตเป็นอาชีพ วิจัยโดยนักวิจัยของ สกว. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.บัญชร ลิขิตเดชาโรจน์และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.สาขาเมืองนครราชสีมา นายสมบัติ เทพทอง นำไปพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ
ซึ่งไก่โคราชเป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 50-70 วันสามารถส่งจำหน่ายได้ การจัดการท่องเที่ยวชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนหนองแม่นา ตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยนักวิจัยนายสมชัย ขันเงินและคณะ และนายสมพงษ์ ตุ้มคำ เกษตรกรลูกค้าธ.ก.ส.สาขาเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์นำผลงานวิจัยไปปรับใช้ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในช่วงที่ว่างเว้นจากการผลิต งานวิจัยการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยสั่งตัด เป็นต้น นอกจากนี้ในงาน ธ.ก.ส. ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยในโครงการวิจัยระดับจังหวัดที่นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพการเกษตรให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งขยายธุรกิจธนาคาร เช่น การพัฒนาการจัดการ การแปรรูป และการตลาดผลผลิตยางพาราในจังหวัดหนองคาย การพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนในโรงเรือนระบบอัตโนมัติขนาดเล็กในจังหวัดแพร่ และการเชื่อมโยงการผลิตการตลาดทุเรียนคุณภาพมาตรฐานGAP ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
“แนวทางความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. และ สกว. ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้นำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพการเกษตรให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างพลังจากการทำงานวิจัยร่วมกันทั้ง 2 ส่วนงาน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น” นายลักษณ์กล่าว
ข่าวเด่น