ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บอร์ด BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 29 โครงการ มูลค่ากว่า 1 แสนลบ.


 


นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุนรวม 101,581 ล้านบาท 
          
สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ ประกอบด้วย  กลุ่มเกษตรและผลิตผลจากการเกษตรเงินลงทุนรวม 32,145 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ  32,611 ล้านบาทต่อปี ได้แก่
 
 
 
          
 
โครงการที่ 1 ของบริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตเนื้อสุกรชำแหละ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,440 ล้านบาท กำลังผลิต 46,430 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยจะเป็นการลงทุนสร้างโรงงานชำแหละสุกรแห่งแรกของบริษัทในภูมิภาค ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น สุกรขุน และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่ากว่า 3,575 ล้านบาทต่อปี
         
 โครงการที่ 2-4 ของ MR.BENJAMIN WILLIAM BOOTLE ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตน้ำนมดิบ ปุ๋ยอินทรีย์ และก๊าชชีวภาพ และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ รวม 3 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 18,200 ล้านบาท โดย 2 โครงการมีเงินลงทุนโครงการละ 5,500 ล้านบาท เป็นการผลิตน้ำนมดิบกำลังการผลิตโครงการละ 190,000 ตันต่อปี ปุ๋ยอินทรีย์ โครงการละ 17,500 ตันต่อปี และก๊าชชีวภาพ กำลังผลิตโครงการละ 24,940,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี และเชียงใหม่ ส่วนอีกโครงการมีเงินลงทุน 7,200 ล้านบาท เป็นการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ กำลังผลิต 380,000 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยจะเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูงเน้นเจาะตลาดคนที่แพ้ Lactose เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชที นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม  เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตในประเทศไทยทั้ง 3 โครงการจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ มูลค่ารวม 12,904 ล้านบาทต่อปี
          
โครงการที่ 5 ของบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตเครื่องปรุงรสชนิดผงหรือชนิดก้อน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,085 ล้านบาท กำลังผลิต 40,000 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 2,013 ล้านบาทต่อปี เช่น เนื้อสัตว์ เกลือ น้ำตาล ผงชูรส และน้ำมันปาล์ม   เป็นต้น
          
โครงการที่ 6 ของบริษัท บี.ฟู้ดส์โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนขยายกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์แช่แข็ง  เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,910 ล้านบาท กำลังผลิตปีละ 24,000 ตัน ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี  ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เนื้อไก่ แป้งผสมอาหาร สิ่งปรุงแต่งอาหาร น้ำมันพืช ถ่านไม้ และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่า 2,395ล้านบาทต่อปี
          
โครงการที่ 7 ของ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์แช่แข็ง  เช่น เนื้อหมูปรุงสุก  ขาหมูพะโล้ และหมูย่าง เป็นต้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,510 ล้านบาท กำลังผลิต 13,070 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโครงการจะมีการลงทุนใหม่ทั้งในส่วนการผลิตก่อสร้างคลังจัดเก็บสินค้าและระบบจัดเก็บทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมถึงเครื่องกลหุ่นยนต์ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยในการจัดเก็บและลำเลียงสินค้า  มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เนื้อสัตว์ ส่วนผสมอาหารและสิ่งปรุงแต่ง เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าปีละ 2,044 ล้านบาท
          
โครงการที่ 8-11 ของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตน้ำมันกรีนดีเซล และเมล็ดในปาล์มอบแห้ง จำนวน 4 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท เงินลงทุนโครงการละ 1,500 ล้านบาท กำลังการผลิตน้ำมันกรีนดีเซล รวม 264,960 ตันต่อปี และเมล็ดในปาล์มอบแห้ง รวม 115,200 ตันต่อปี  โดย 2 โครงการ ตั้งอยู่ที่จังหวัดชุมพร และอีก 2 โครงการ อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตกรีนดีเซลที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์โดยตรง ซึ่งคุณสมบัติของน้ำมันกรีนดีเซลจะดีกว่าน้ำมันไบโอดีเซล เนื่องจากจะไม่มี Glycerol ที่ทำให้เกิดการอุดตัน และให้พลังงานต่อหน่วยสูงกว่า  มีการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้นรวมทั้ง 4 โครงการ เช่น ผลปาล์มสด CLAY แป้งฟอกสี กรดฟอสฟอริก และโซดาไฟ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวม 9,680 ล้านบาท
          
กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เงินลงทุน 13,570 ล้านบาท ได้แก่ โครงการที่ 12 ของ MR.HUASHUN XIE ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยางยานพาหนะ ได้แก่ยางรถบรรทุก และรสบัส (TRUCK&BUS RADIAL TIRE) หรือTBRกำลังการผลิต1,200,000 เส้นต่อปีและยางออฟเดอะโรด (OFF THE ROAD TIRE) หรือ OTR ซึ่งเป็นยางขนาดใหญ่ใช้กับธุรกิจก่อสร้างหรือเหมือง จำนวน 30,000 เส้นต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,570 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง โดยเป็นโครงการร่วมทุนของจีน-ไทย มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ยางธรรมชาติ มูลค่า 1,776 ล้านบาทต่อปี
          
กลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เงินลงทุนรวม 8,488 ล้านบาท ได้แก่ โครงการที่ 13 ของบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ได้รับส่งเสริมลงทุนขยายกิจการผลิตก๊าซออกซิเจน ก๊าซไนโตรเจน กำลังผลิตปีละ 792,000 ตัน ออกซิเจนเหลว ไนโตรเจนเหลว และอาร์กอนเหลว กำลังผลิตปีละ 225,500 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,968 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง การผลิตจะใช้เทคโนโลยีการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมที่ทันสมัย กระบวนการกลั่นแยกอากาศโดยใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
          
โครงการที่ 14 ของนายพรณรงค์ จิรา ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ กำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยกระดาษคราฟท์เป็นกระดาษที่ใช้งานในอุตสาหกรรมเป็นหลัก สำหรับกระดาษพิมพ์เขียนจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับงานพิมพ์คุณภาพสูงมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อใยสั้น เศษกระดาษ และแป้ง เป็นต้น มูลค่ารวม 2,852.9 ล้านบาทต่อปี
          โครงการที่ 15 ของนายชาญ เสนีย์นันท์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน กำลังผลิต 120,000ตันต่อปี   เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,320 ล้านบาท  ตั้งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี  โดยเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตสิ่งพิมพ์รายใหญ่ของไทยและผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อกระดาษ เศษกระดาษ และหินปูน เป็นต้น มูลค่ารวมประมาณ 4,100 ล้านบาทต่อปี
         
โครงการที่ 16 ของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์แอนด์เปเปอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร (ชนิด BIODEGRADABLE) ทำจากเยื่อกระดาษชานอ้อย กำลังการผลิต 18,870 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,200 ล้านบาท  ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยโครงการนี้เป็นนวัตกรรมสีเขียว เป็นการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัตินอกจากกันน้ำ กันน้ำมัน และมีความยืดหยุ่นสูงแล้วยังสามารถเข้าเตาอบ และเตาไมโครเวฟได้ ไม่มีสารปนเปื้อนก่อมะเร็ง ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อกระดาษชานอ้อย สารเคมี และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่า 459.4 ล้านบาทต่อปี
         
กลุ่มกิจการบริการ และสาธารณูปโภค เงินลงทุนรวม 47,378 ล้านบาท ได้แก่ โครงการที่ 17 ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 12 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำ (BLACK LIQUOR)ซึ่งเป็นกากที่เกิดขึ้นจากการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ  ขนาดการผลิต 135 เมกะวัตต์ ไอน้ำ  464 ตันต่อชั่วโมง และสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ (WHITE LIQUOR) จำนวน 250 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น  9,160 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์
          โครงการที่ 18 ของบริษัท สยามเพาเวอร์ โครงการ 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดการผลิต 117 เมกะวัตต์  และไอน้ำ  20 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,650 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งตามโครงการจะเป็นการติดตั้งระบบหัวฉีดเผาไหม้ระบบพิเศษเพื่อลดอุณหภูมิการเผาไหม้ให้ต่ำกว่าระบบการเผาเชื้อเพลิงแบบธรรมดา  ทำให้ลดการเกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน
          โครงการที่ 19 ของบริษัท เบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดการผลิต 100 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง  เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,323.6 ล้านบาท  ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรีโดยโครงการจะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์
          
โครงการที่ 20 ของบริษัทกัลฟ์ เอ็นอาร์วี 1 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ  ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง  และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,745 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา 
          
โครงการที่ 21 ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ  ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง  และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,745 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา 
          
โครงการที่ 22 ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นซี จำกัด  ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ  ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง  และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,426 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
          
โครงการที่ 23 ของบริษัท ร่วมกำลาภพาวเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) ขนาด 37 เมกะวัตต์ และไอน้ำ  400 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยโครงการมีการใช้เทคโนโลยีกังหันไอน้ำกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น
          
โครงการที่ 24 ของบริษัทมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (กุฉินารายณ์) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย ชิ้นไม้สับ) ขนาด 45 เมกะวัตต์   และไอน้ำ  270 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,780 ล้านบาท  ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยโครงการจะใช้เทคโนโลยีการผลิตจากประเทศอินเดียและเยอรมนี
         
โครงการที่ 25 ของบริษัท ทุ่งบัว เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) ขนาดการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดยโครงการจะรับขยะจากสถานีขนถ่ายมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ที่โรงงานกำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม มีความต้องการขยะประมาณ 83,950 ตันต่อปี
          
โครงการที่ 26 ของบริษัท ดินสวย น้ำใส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไอน้ำ ซึ่งได้จากการนำน้ำกากส่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์มาใช้เป็นวัตถุดิบ กำลังการผลิต 60 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท
         
 โครงการที่ 27 ของบริษัท พรีเชียส เนปจูน จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางเรือ โดยเป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกสินค้าเทกองต่างๆ เช่น สินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน สินแร่ เป็นต้น ในพื้นที่แถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เงินลงทุนทั้งสิ้น 918 ล้านบาท
          
โครงการที่ 28 ของบริษัท พรีเชียสวีนัส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางเรือ โดยให้บริการเดินเรือบรรทุกสินค้าเทกองต่างๆ เช่น สินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน สินแร่ เป็นต้น ในพื้นที่แถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เงินลงทุนทั้งสิ้น 918 ล้านบาท
          
โครงการที่ 29 ของนายชัยภัทร เขมาภิรักษ์ ได้รับส่งเสริมกิจการเขตอุตสาหกรรม พื้นที่ 1,326ไร่  เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,262.5 ล้านบาท  ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการจะพัฒนาพื้นที่อำเภอบ้านบึง ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard)  นอกจากนี้จะพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco-Industrial Estate)  โดยวางผังและออกแบบให้สมดุลระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี  อุตสาหกรรมเป้าหมายคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ แม่พิมพ์ ไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น










 

LastUpdate 15/06/2559 16:09:23 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:49 am