กรมการจัดหางานเผยการนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมายภายใต้ MOU ทำได้ 4 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
กรมการจัดหางาน เผยนายจ้าง/สถานประกอบการ สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ MOU ได้ 4 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา อนุญาตให้ทำงานได้ในอาชีพกรรมกร และคนรับใช้ในบ้าน ส่วนสัญชาติเวียดนาม อนุญาตให้ทำงานได้เฉพาะอาชีพกรรมกรในกิจการก่อสร้าง และประมงทะเล
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน แจ้งว่านายจ้าง/สถานประกอบการที่มีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าว สามารถดำเนินการได้โดยวิธีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายในรูปแบบ MOU ซึ่งกรมการจัดหางานได้ปรับปรุงระบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ให้มีการดำเนินการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด คุ้มค่า ซึ่งในปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้นายจ้าง/สถานประกอบการ สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ 4 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานได้ในตำแหน่งอาชีพกรรมกรใน 24 กิจการ และคนรับใช้ในบ้าน ส่วนสัญชาติเวียดนามตำแหน่งกรรมกรเฉพาะในกิจการก่อสร้าง และประมงทะเล
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ภายใต้ข้อกำหนดว่าแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ MOU จะไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ยกเว้นเงื่อนไข 4 กรณี คือ นายจ้างตาย นายจ้างเลิกกิจการ นายจ้างกระทำทารุณกรรม และนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยนายจ้าง/สถานประกอบการสามารถติดต่อยื่นขอโควตาได้ ณ สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ในปี 2559 (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม) มีแรงงานต่างด้าวประเภทนำเข้าตาม MOU ที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งสิ้น 323,270 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา จำนวน 155,835 คน สัญชาติลาว จำนวน 33,899 คน และสัญชาติกัมพูชา จำนวน 133,536 คน โดยส่วนใหญ่ประเภทกิจการที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. การให้บริการต่างๆ 2. กิจการก่อสร้าง 3. กิจการต่อเนื่องการเกษตร 4. ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป 5. ต่อเนื่องประมงทะเล
นายอารักษ์ฯ กล่าวต่อว่า การนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายภายใต้ MOU เป็นมาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่มีส่วนเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต หากถูกจับจะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่10,000 ถึง100,000 บาทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว1คน ส่วนแรงงานต่างด้าวจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 จนถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
ข่าวเด่น