คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้
โดยนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวว่า ประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะตัดสินชะตาว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เฟดคงนโยบายทางการเงินตามเดิม นอกจากนี้ แถลงการณ์ของเฟดระบุด้วยว่า เฟดต้องการเห็นภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง
นางเยลเยน กล่าวระหว่างแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุม 2 วันของFOMC ถึงการลงประชามติว่า เป็นการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาวะทางการเงินในตลาดการเงินโลก และอาจเกิดผลกระทบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเช่นกัน
ทั้งนี้ จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์ระหว่างประเทศและยอดการจ้างงานที่หยุดชะงัก FOMC ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จาก 2.2%เหลือ 2.0% ในปีนี้ และจากเดิม 2.1% เหลือ 2.0%ในปี 2017
ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 1.4% ในปีนี้ สูงกว่าระดับ 1.2% ที่คาดการณ์ในเดือนมี.ค. ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2017 และ 2018 จะอยู่ที่ 1.9% และ 2% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เฟดคาดว่าสภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวในลักษณะที่สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเฟดจะจับตาอย่างใกล้ชิดต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยยังคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25% ส่วนในปีหน้า คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 3 ครั้ง โดยลดลงจากระดับ 4 ครั้งที่เคยระบุในเดือนมี.ค. และคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2018 ลดลงจากระดับ 4 ครั้งที่ระบุในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ เฟดยังคงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะแตะระดับ 0.9% ภายในสิ้นปีนี้ แต่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% ในปีหน้า ลดลงจาก 1.9% ที่คาดการณ์ในเดือนมี.ค. และคาดว่าอยู่ที่ 2.4% ในปี 2018 จากระดับ 3.0% ซึ่งเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสู่ระดับ 3% จากเดิมที่ระดับ 3.3% ที่คาดการณ์ในเดือนมี.ค.
ข่าวเด่น