กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดัน การยางแห่งประเทศไทย เจรจาการค้าการลงทุน เพิ่มการส่งออกยางเป็นเท่าตัวสู่ประเทศอินเดีย กระตุ้นอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแผนเพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ ยางพารา เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งวันที่ 6 – 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เข้าร่วมประชุมเจรจาการค้าการลงทุน ณ ประเทศอินเดีย โดยมีผู้แทนสภาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอินเดีย(All India Rubber Industries Association:AIRIA) ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตยางล้อประเทศอินเดีย(Automotive Tyre Manufacturers Association:ATMA) ผู้แทนบริษัทผลิตล้อรถยนต์ และผู้แทนบริษัทผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 21 คน
และในวันที่ 16 – 18 มิถุนายนนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประเทศอินเดียพร้อมกับพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมเจรจากับนายกรัฐมนตรีอินเดีย ภายใต้กรอบการค้าแบบทวิภาคี เพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตร ในส่วนของยางพาราจะขอปรับลดอัตราภาษีนำเข้าในรูปแบบวัตถุดิบจากเดิม 25% เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอินเดียหันกลับมาซื้อยางพาราจากไทยมากขึ้น
ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความต้องการใช้ยางภายในประเทศอินเดียต่อปีมีมากถึง 1,000,000 ตัน ซึ่งกว่า 90% จะถูกนำไปใช้แปรรูปเป็นยางล้อในรูปแบบต่างๆ แต่ประเทศอินเดียผลิตยางได้น้อยกว่าความต้องการใช้งาน ประมาณปีละ 416,000 ตัน ส่วนที่เหลือจึงต้องนำเข้ายาง จากประเทศอินโดนีเซีย 46% จากประเทศไทย 26% และจากประเทศเวียดนาม 20% โดยเป็นการนำเข้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 และยางแท่ง STR 20
ในปี 2015 ปริมาณการส่องออกยางจากประเทศไทยไปประเทศอินเดีย รวมทั้งสิ้น 98,859 ตัน แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 จำนวน 35,120 ตัน และยางแท่ง STR 20 จำนวน 63,739 ตัน ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับเวียดนามถึง 10% เนื่องจากปัจจัยในเรื่องของราคา และภาษีนำเข้าวัตถุดิบยางพาราในประเทศอินเดียที่สูงถึง 25% ทั้งนี้ ในปี 2016 – 2017 กยท. ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการส่งออกยางไปประเทศอินเดียให้เพิ่มขึ้น 100,000 ตัน โดย 70% เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 และ 30% เป็นยางแท่ง STR 20
ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอ 3 แนวทาง เพื่อเพิ่มการใช้ยาง ได้แก่ 1.ให้ประเทศอินเดียซื้อยางโดยตรงผ่าน กยท. แก่ผู้ประกอบการในอินเดียที่อยู่ในรูปแบบสมาคมธุรกิจ เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางการค้า เพราะ กยท. เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ไม่มุ่งหวังกำไรสูงสุดเหมือนเอกชน 2.เชิญชวนผู้ประกอบการในประเทศอินเดียมาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมยางในประเทศไทย ตามโครงการ Rubber City 3. กยท. เป็นผู้จัดหายางเพื่อเป็นวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานในประเทศอินเดีย เพื่อทำการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ร่วม (Co – Branding) ส่วนหนึ่งใช้ขายทั่วไป และอีกส่วนหนึ่งส่งกลับมาใช้ในกิจการของรัฐในประเทศไทยด้วย
ข่าวเด่น