ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
คนไทย 87.3% ระบุหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมา 6 เดือน พบเห็นแรงงานต่างด้าวมากขึ้น


 



คนไทย 87.3% ระบุหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมา 6 เดือน พบเห็นแรงงานต่างด้าวมากขึ้น73.1% เห็นว่าการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทและมีอำนาจต่อรองประชาคมโลกมากขึ้น53.6 % มีความเป็นประชาชนอาเซียนอยู่ในระดับปานกลาง แต่ไม่อยากใช้เงินสกุลเดียวกันในอาเซียนพร้อมระบุอยากจะไปเที่ยว ประเทศสิงคโปร์ ลาว เวียดนาม


กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ คนไทยคิดเห็นอย่างไร หลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนครบ 6 เดือน ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,132 คน พบว่า
หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมาครบ 6 เดือน สิ่งที่คนไทยเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดร้อยละ 87.3  คือ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแสดงตัวมากขึ้น/พบเห็นแรงงานต่างด้าวมากขึ้น  รองลงมาร้อยละ 78.2 คือ มีการช่วยเหลือกันระหว่างประเทศสมาชิกเมื่อประเทศในกลุ่มอาเซียนเกิดภัยพิบัติ และ ร้อยละ 74.5 คือ มีการแข่งขันทางด้านอาชีพมากขึ้น 
เมื่อถามว่าในอนาคตหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว ประชาคมอาเซียนจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน/การทำงานมากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชนร้อยละ 42.6 ระบุว่า เข้ามามีบทบาทปานกลาง รองลงมาร้อยละ 32.2 ระบุว่าเข้ามามีบทบาทมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 25.1 ระบุว่า เข้ามามีบทบาทน้อยถึงน้อยที่สุด
ส่วนประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนที่ประชาชนอยากจะไปมากที่สุดร้อยละ 32.9 คือ ประเทศสิงคโปร์ รองลงมาร้อยละ 19.6 คือประเทศลาว และร้อยละ 13.0 คือประเทศเวียดนาม 
สำหรับความเห็นต่อการอยากใช้เงินสกุลเดียวกันทั้ง 10 ประเทศ ในกลุ่มประชาคมอาเซียน เหมือนเงินสกุลยูโร ในสหภาพยุโรป นั้น ประชาชนร้อยละ 58.8 ระบุว่าไม่อยากใช้เงินสกุลเดียวกัน ขณะที่ร้อยละ 33.7 ระบุว่าอยากใช้ ที่เหลือร้อยละ 7.5 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อความเป็น“เป็นประชาชนของอาเซียน” หรือ “มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในประชาคมอาเซียน” พบว่า ร้อยละ 53.6 มีความรู้สึกระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 24.7 มีความรู้สึกอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และร้อยละ 21.7 มีความรู้สึกอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
สุดท้ายเมื่อถามว่าการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนจะทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทสำคัญและมีอำนาจต่อรองกับประชาคมโลก มากขึ้นใช่หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 73.1 ระบุว่า “ใช่” ขณะที่ร้อยละ 14.4 ระบุว่า “ไม่ใช่” ที่เหลือร้อยละ 12.5 ระบุว่า “ ไม่แน่ใจ” 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 20 มิ.ย. 2559 เวลา : 09:18:25

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:38 am