สำนักวิจัย ธ. ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้คนตื่นตระหนกเกินไปเรื่อง Brexit ผลกระทบแค่ช่วงสั้น ใช้เวลาอีก 2 ปีกว่าอังกฤษจะออกจริงแนะผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เผื่อค่าเงินแกว่งระยะสั้น
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า วันที่ 23 มิถุนายนนี้ คนอังกฤษจะมาออกเสียงประชามติว่าจะอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรปหรือ EU ต่อไปหรือไม่ โดยโพลสำรวจล่าสุด ปรากฏว่าคะแนนผู้ต้องการให้อังกฤษออกจาก EU มีมากขึ้นและนำฝ่ายต้องการอยู่ร่วมกับ EU ซึ่ง 3 ปัจจัยที่คนอังกฤษมองว่าเขาน่าจะออกจาก EU คือ 1) เขามองว่ารายจ่ายให้ EU มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งผู้เสียภาษีชาวอังกฤษเริ่มไม่พอใจมากขึ้น 2) ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ดำเนินการผ่าน EU นั้น แม้ฝ่ายที่อยากจะให้อังกฤษอยู่ร่วมกับ EU มองว่าทำให้อังกฤษมีอำนาจต่อรองทางการค้าดีกว่าอยู่เองตามลำพัง แต่ฝ่ายที่อยากให้ออกมองว่าการอยู่ร่วมกับ EU ทำให้ขาดอิสระและถูกลากพาไปมากกว่า และ 3) แรงงานต่างชาติที่เข้ามาในอังกฤษมีมากจนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงชาวอังกฤษมองว่าแย่งงานคนอังกฤษทำ และผู้ลี้ภัยที่ EU เปิดรับมามากอาจมีปัญหาเรื่องความมั่นคงในภายหลัง
คะแนนโพลเช่นนี้ส่งผลให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง ขณะที่เฟดมองความเสี่ยงด้านตลาดเงินโลกเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป
“ผมห่วงว่าคนแตกตื่นกันเกินไป เพราะในด้านภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงแล้ว ผมมองว่าผลกระทบยังไม่เกิดขึ้นในทันที หากคนอังกฤษจะออกเสียงให้ออกจาก EU ตามหลักแล้วก็จะใช้เวลาอีก 2 ปีถึงจะออกจริงๆ ดังนั้นความเสี่ยงด้านการส่งออกของไทย (สัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 2 ของมูลค่าส่งออกทั่วโลก) และการท่องเที่ยว (สัดส่วนราวร้อยละ 3 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก) จึงไม่น่าจะมีผลมากนัก แต่ในอนาคตหากปัญหาลาม (contagion) ไปยังประเทศอื่นให้ออกเพิ่มขึ้นจน EU อ่อนแอหรือแตกล้มลง (break-up) หรือประเทศที่ออกเป็นประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร ซึ่งอาจมีผลให้ระบบเงินยูโรล่มสลาย ถึงจุดนั้นคงร้ายแรงและกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่ขั้นนั้น” นายอมรเทพ กล่าว
สำหรับผลกระทบทางตรง คือเศรษฐกิจของอังกฤษอ่อนแอลงจนกระทบการค้า นักท่องเที่ยว แต่ไม่มากมายนัก ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือทำให้เศรษฐกิจยุโรปอ่อนแอลงด้วย แน่นอนว่าผลทางอ้อมจากอังกฤษแยกตัวนี้อาจรุนแรงกว่าผลทางตรง เพราะจะทำให้การค้าโลกชะลอตัวได้ โดยเฉพาะสัดส่วนการค้าและการท่องเที่ยวของทั้งยุโรปมีสูงกว่าอังกฤษมาก เราจึงต้องจับตาผลทางอ้อมให้ดี แต่คงไม่ถึงขั้นสุดโต่ง เพราะต่อให้อังกฤษจะออก แต่ก็น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่น่าส่งผลร้าย
นายอมรเทพ กล่าวว่า ต้องเฝ้าดูจากการแยกตัวของอังกฤษในระยะสั้นที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้คือ ผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะกังวลต่อเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษในอนาคต ซึ่งจะมีผลให้มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก เงินบาทอ่อนค่าได้ในระยะสั้นเช่นกัน แต่หากสถานการณ์คลี่คลาย คนจะกลับมาจับตาประเด็นเฟดขึ้นดอกเบี้ย และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง 2 ประเด็นหลังมีน้ำหนักต่อการอ่อนค่าของเงินบาทมากกว่า อีกทั้งเชื่อว่าทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมจึงไม่ได้มองว่าปัญหาจะรุนแรง
“ถ้าเราถอยออกมาก้าวหนึ่งแล้วมองภาพรวมกว้างๆ ดู ผมไม่ได้มองว่าปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างของอังกฤษจะได้รับผลกระทบมากนัก ผมไม่คิดว่าการแยกตัวของอังกฤษจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงาน หรือเลวร้ายถึงขั้นอังกฤษเสียความน่าสนใจในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน หรือถึงขั้นถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ ผมจึงมองว่า BREXIT คงมีผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนโลกในระยะสั้น” นายอมรเทพ กล่าว
โดยสรุป หากผลประชามติคืออังกฤษอยู่ต่อไป นักลงทุนที่เคยเทขายสินทรัพย์เสี่ยงก็คงกลับเข้ามาใหม่ บาทแข็งเล็กน้อย แนวรับที่ 35.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่พอรับได้ ทองคำลงแต่ก็ชั่วคราว รอเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง หากผลประชามติคืออังกฤษออก เชื่อว่าคงมีแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงไม่มาก บาทอ่อนระยะสั้น แนวต้านที่ 36.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐน่าจะเอาอยู่ แต่ไม่น่าแรงเพราะคนจะคิดว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป สุดท้ายภายในไม่เกินเดือนน่าจะมีแรงซื้อพันธบัตรไทยได้ และไม่น่ารุนแรงขนาดกนง. บ้านเราต้องลดดอกเบี้ย ยกเว้นปัญหาลามไปยุโรป และกระทบการส่งออกและท่องเที่ยวไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เงินบาทที่อ่อนค่าก็ไม่ได้หมายความว่าการส่งออกจะฟื้น เพราะค่าเงินของเพื่อนบ้านก็อ่อนค่าเช่นกัน แต่มีความเป็นไปได้ที่บาทจะอ่อนค่าแรงกว่าเพื่อนบ้าน เพราะไทยพึ่งตลาดอังกฤษมากกว่าประเทศอื่น ขณะที่แต่ละประเทศก็พึ่งตลาดยุโรปในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ดังนั้น ผู้ส่งออกควรปรับตัวให้ดีด้วยการหาตลาดอื่นทดแทนยุโรปและป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน สุดท้าย ปัญหาไม่ร้ายแรงและลามไปวงกว้าง ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจอังกฤษและยุโรปไม่ได้เปลี่ยนแม้เกิด Brexit เมื่อราคาสินทรัพย์ย่อลง เป็นจังหวะและเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ
สำหรับภาคอุตสาหกรรมองไทยที่น่าเป็นห่วงหากเศรษฐกิจอังกฤษหรือยุโรปมีปัญหา ได้แก่ ไก่แปรรูป เพราะส่งออกไปอังกฤษมากเป็นอันดับ 1 เฉพาะ 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าส่งออกประมาณ 167.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบลดหลั่นกันมา ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นสวน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี และเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดอังกฤษและยุโรปค่อนข้างมาก
มีคำถามว่า ปอนด์จะร่วงลง 30% จริงหรือ? อาจเป็นอดีตที่อังกฤษถูกโจมตีค่าเงินจาก George Soros ในเดือนกันยายนปี 1992 หรือ Black Wednesday อันมีผลให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องยกเลิกการผูกค่าเงินกับสกุลเงินอื่นในยุโรป (ก่อนมีเงินยูโร) จนทำให้ค่าเงินปอนด์ร่วงลง 30% ภายใน 6 เดือน แต่เราทราบกันดีว่าเหตุผลครั้งนี้และครั้งก่อนต่างกัน อังกฤษไม่ได้ผูกค่าเงิน และมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่ดี ไม่ได้มีปัญหาเหมือนในอดีต จึงไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
ข่าวเด่น