วันนี้(20 มิ.ย.)นายโอภาส สร้อยสน ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายื่นคำขอคัดค้านการแต่งตั้งนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึง ร.ต.อ.เฉลิม กับพวกรวม 36 ราย กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นการทำเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง
นายโอภาส กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ร.ต.อ.เฉลิม ให้นำคำขอคัดค้านเรื่องการตั้งนายวิชา เป็นอนุกรรมการไต่สวนในกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าตามกฎหมายของ ป.ป.ช.แล้ว เมื่อกรรมการ ป.ป.ช.พ้นวาระไปแล้ว ก็ไม่ควรแต่งตั้งให้กลับมาเป็นอนุกรรมการอีก อีกทั้งนายวิชา เคยเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้อยู่แล้ว เมื่อมีชื่อจะต้องกลับเข้ามาเป็นอนุกรรมการ ก็ถือว่าต้องห้ามตามกฎหมาย จึงได้รวบรวมเอกสารต่างๆพร้อมกับแนบมาในคำขอคัดค้าน และมายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในครั้งนี้
นายโอภาส กล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม ระบุชัดถึงเหตุผลของข้อกฎหมายที่ชัดเจนว่า ขัดต่อกฎหมายถึง 2 มาตราด้วยกัน คือ มาตรา 46 อนุมาตรา 1 และมาตรา 12 ของ กฎหมาย ป.ป.ช. ดังนั้น เชื่อว่า ประธานและกรรมการ ป.ป.ช.จะรับฟังในข้อนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าความคืบหน้าของการไต่สวนคดีดังกล่าวนั้นมีความคืบหน้าอย่างไร เนื่องจากในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่หลังจากนั้นจะได้สอบถามไปที่อนุกรรมการ อีกครั้งว่ามีความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้ ตนเป็นตัวแทนจาก ร.ต.อ.เฉลิม เพียงรายเดียว ส่วนผู้ถูกร้องรายอื่นๆ ก็เชื่อว่าจะมีการมายื่นคำขอคัดค้านต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับเอกสารที่ทนายความของร.ต.อ.เฉลิม ยื่นให้กับป.ป.ช.นั้นได้ระบุถึงเหตุผลที่คัดค้านไม่ให้นายวิชา มาทำหน้าที่อนุกรรมการไต่สวนฯ ทั้งสิ้น 6 ข้อ
1.ข้าพเจ้าไม่เข้าใจและทราบถึงเหตุผลของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่แต่งตั้งนายวิชากลับมาเป็นอนุกรรมการไต่สวนฯ ทั้งๆที่คณะกรรมการป.ป.ช.ทราบดีว่า นายวิชา มีกรณีพิพาทถูกอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ศาลอาญาจ.นนทบุรี การแต่งตั้งนายวิชามาดำรงตำแหน่งอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องนี้จึงเป็นการผิดจริยธรรมและคุณธรรม
2.นายวิชา ดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ถึง9 ปีและได้พ้นวาระตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.2558 ดังนั้นจะย้อนกลับมาทำหน้าที่ในสำนักงานป.ป.ช.ไม่ว่าในสถานะอย่างไรก็ต้องห้ามตามกฎหมาย เพราะจุดประสงค์ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็เพื่อป้องกันมิให้คณะกรรมการป.ป.ช.ใช้อิทธิพลดำรงตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่ในทางคดีจนไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด
3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.ได้เพียงวาระเดียว ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้คณะกรรมการป.ป.ช.ซึ่งได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วกลับมาดำรงตำแหน่งเพื่อทำงานเกี่ยวกับการไต่สวน แม้คณะกรรมการป.ป.ช.จะได้แต่งตั้งนายวิชาเป็นอนุกรรมการ แต่อนุกรรมการก็เป็นผู้ที่คณะกรรมการป.ป.ช.แต่งตั้งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแทนคณะกรรมการป.ป.ช. ดังนั้น คำสั่งคณะกรรมการป.ป.ช.ที่627/2559ลงวันที่ 25มี.ค.2559ที่ได้แต่งตั้งนายวิชา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯที่กำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น
4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ และระเบียบคณะกรรมการป.ป.ช.ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริงพ.ศ.2555 ได้แยกบุคคลที่ดำเนินการไต่สวนออกจากกัน โดยบุคคลที่จะเป็นอนุกรรมการไต่สวนและประธานอนุกรรมการไต่สวนจะต้องไม่รู้เห็นเหตุการณ์หรือเคยสอบสวนหรือพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาในฐานะอื่นมาก่อน แต่นายวิชาเคยทำหน้าที่ดังกล่าวมาก่อน ดังนั้น นายวิชา จึงเป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์มาแล้ว นายวิชาจึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการป.ป.ช.แต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา46(1)
5.เดิมนายวิชา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการ โดยได้รับฟังข้อเท็จจริงในเรื่องคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เนื่องจากการอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองพ.ศ.2548-2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเพื่อเป็นการสร้างความปรองดองตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และยังเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งการอนุมัติงบกลางตามพ.ร.บ.งบประมาณ ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติให้ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นหลายกรณี เช่น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาทางการเงินเหตุการณ์ความไม่สงบมาแล้วหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์เดือนพ.ค.2535 เดือนต.ค.2551 ซึ่งมีการอนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากนี้ การมีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาในครั้งนี้ ยังเป็นกรณีเดียวกันกับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบริหารราชการแผ่นดินในขณะนี้อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง โดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางการดำเนินการชดเชยเยียวยาก่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้จ่ายเงินจากงบกลางได้เช่นเดียวกับมติของคณะรัฐมนตรีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่การไต่สวนของนายวิชา กลับดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริและรวบรวมพยานอย่างมีอคติและขาดความเที่ยงธรรม ไม่นำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องจากสำนักงบประมาณมาไต่สวน กลับรับฟังข้อเท็จจริงจากที่ปรึกษากระทรวงการคลังซึ่งเป็นพยานบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่าการจ่ายเงินเยียวยาไม่มีกฎหมายรองรับ
6.นายวิชา ยังถือได้ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ เพราะมีกรณีพิพาทเป็นคู่ความกับคณะรัฐมนตรีบางคน เนื่องจากนายวิชาได้ถูกนาวาเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ กล่าวหาในเรื่องนี้ฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลจ.นนทบุรีเป็นคดีดำหมายเลขที่ อ.2304/2558 ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งแก่ข้าพเจ้า
ข่าวเด่น