เลขาธิการ กสทช. เผย AIS ประสานขอเข้าจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz วันที่ 28 มิ.ย. 59 ก่อน 11.00 น. เผยรองนายกประจินเข้าหารือเรื่องดาวเทียมไทยคม และเงินค่าธรรมเนียม USOโทรคมนาคม
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้รับการประสานจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ว่าจะขอเข้ามาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ก่อนเวลา 11.00 น. ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้นจะมีการประชุม กทค. เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาต ต้องออกใบอนุญาตภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2559 เพื่อให้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
นายฐากร กล่าวว่า จากการหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เรื่องดาวเทียม และการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) โดยในเรื่องของดาวเทียมได้มีการหารือภายใต้สัญญาสัมปทานว่า ดาวเทียมไทยคม 4, 5 และ 6 เป็นดาวเทียมที่ยังอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ก็คงเป็นการใช้ไฟลิ่งเดิมที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ดังนั้นแนวทางการศึกษาของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่าจ้างโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เห็นว่าดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 จะอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานหรือไม่ หรือจะเป็นการใช้รูปแบบการทำสัญญาแนบท้าย (Deed Of Agreement) ในการกำกับดูแลก่อนการเปิดให้บริการนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องขอรับนโยบายจากกระทรวงไอซีทีต่อไป ส่วนดาวเทียมอื่น ๆ ที่จะต้องขออนุญาตก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2564 นั้น คงจะใช้แนวทางเดียวกันกับดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 หากกระทรวงไอซีทีได้ตัดสินใจดำเนินการแล้ว สำหรับดาวเทียมที่จะเปิดให้บริการหลังปี 2564 ที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงนั้น ก็จะใช้ Deed Of Agreement ในการกำกับดูแล ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างรองนายกรัฐมนตรีรับไปหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติอีกครั้งและทุกแนวทางที่จะได้ข้อสรุปนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการที่สอดคล้องกันว่าจะต้องไม่ทำให้รัฐเสียหาย
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ส่วนเงิน USO สำนักงาน กสทช. ได้ให้ข้อมูลกับรองนายกรัฐมนตรีว่า สถิติการเก็บเงินเข้า USO จนถึงปี 2558 มีเงินเข้ามาจำนวน 28,640 ล้านบาท ในจำนวนนี้รัฐบาลยืมไปเพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน 14,300 ล้านบาท คงเหลือเงินอีกจำนวน 14,340 ล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินการ USO ได้ โดยในปี 2559 ประมาณการว่าจะมีเงินเข้า USO อีก 8,500 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินที่เหลือ 14,340 ล้านบาท จะทำให้มีเงินที่ใช้ในการดำเนินการกว่า 22,000 ล้านบาท ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลทั้งหมดแล้ว และจะให้กระทรวงไอซีทีหารือกับสำนักงาน กสทช. เพื่อไม่ให้พื้นที่ในการดำเนินการมีการทับซ้อนกัน
ข่าวเด่น