วันนี้ (22 มิถุนายน 2559) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่อง แนวทางการดำเนินงานของการท่าอากาศยาน และความต้องการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตัวแทนภาคเอกชน และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนต้นก่อนการประชุมว่า ขอให้การประชุมครั้งนี้ตระหนักถึงศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถพัฒนาได้อีกในหลายสาขา เช่น การพัฒนาพื้นที่ฝั่งทะเลภาคตะวันออก ที่จะสามารถสร้างประโยชน์และเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น พร้อมกับขอบคุณกองทัพเรือที่ให้ความร่วมมือในการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ เช่น การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศ จากนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวบรรยายสรุปภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกว่า บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมีของประเทศ คิดเป็นเงินลงทุนร้อยละ 36 ของประเทศ (1.9 ล้านล้านบาท) ผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาอุตสาหกรรมสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 39) โดยรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งทางรางและสร้างโครงข่ายมอเตอร์เวย์ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางและลดเวลาในการขนส่งสินค้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง โดยจะเชื่อมเมืองหลัก และเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านโลจิสติกส์มุ่งเน้นเป็นศูนย์กลางการคมนาคม พัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค และด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะพลังงานสะอาด เช่น ระบบรถไฟความเร็วสูง กทม. พัทยา ระยอง พร้อมสร้างท่าเรือเฟอรี่เชื่อมโยงอ่าวไทย พัทยา จุกเสม็ด ชะอำ และพัทยา เสม็ด เกาะช้าง เป็นต้น
ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยเตรียมร่างกฎหมายสนับสนุนการลงทุน พร้อมจะพัฒนาต่อยอดความพร้อมด้านอุตสาหกรรมและบริการในอนาคต เพื่อทำให้นักลงทุนทั่วโลกรู้จักด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กโทรนิกส์ และปิโตรเคมี สำหรับความสำเร็จในการลงทุนของภาคเอกชนในระยะเวลาอันใกล้ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีเอกชนพร้อมลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท โครงสร้างพื้นฐาน 400,000 ล้านบาท ที่อยู่อาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล 400,000 ล้านบาท และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 200,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกคือการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่ข้างเคียง
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามและเร่งรัดแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ราง ท่าเรือและอากาศ โดยเร่งรัดให้ดำเนินการให้รวดเร็ว ตอบสนองการพัฒนาทั้งระบบโครงการหรือแผนงานได้ มีงบประมาณแล้วก็เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบเวลาหรือรวดเร็วกว่านั้น ที่สำคัญจะต้องมีการเชื่อมโยงระหว่าง 3 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา สำหรับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ดนั้นมีความสำคัญที่จะช่วยยกศักยภาพเรื่องการขนส่งและการท่องเที่ยว เช่น จุดจอดเรือยอร์ช และเชื่อมกับภูเก็ต จุดจอดเรือเฟอรี่ ที่สำคัญที่สุดจะต้องดูเรื่องการเชื่อมโยงไปท่าเรืออื่น ๆ เช่น แหลมฉบัง และสนามบินด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมใหม่ s Curve นายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาเรื่องธุรกิจสีเขียวและวางแผนให้ชัดเจน รวมทั้งเร่งแก้ปัญหา เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องไปดูให้ละเอียดและแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ โดยนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และมอบหมายให้จัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากมีประเด็นข้อกฎหมายหรืออุปสรรค ให้รีบนำเสนอเพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้รับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจว่าการพัฒนานี้จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสและยกรายได้ของประเทศอย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น