นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวร่วมกับ นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม โดยเปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวว่า ภายหลังจากเดินทางไปร่วมประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 4-8 มิ.ย. 59 และได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมใหญ่ เรื่อง “ความริเริ่มในการยุติความยากจน” ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ ที่ร่วมประชุม 187 ประเทศแล้ว ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีหลายประเทศได้มาพบปะพร้อมให้ความร่วมมือด้านแรงงานหลายด้าน ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการยอมรับและความเชื่อมั่นจากนานาชาติ ต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ซึ่งเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ให้การต้อนรับ Mr. Peter Prügel เอกอัครราชทูตสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย โดยทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน การลงทุนของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในประเทศไทยมากกว่า 600 บริษัท ประกอบธุรกิจหลากหลายประเภท และหนึ่งในบริษัทชั้นนำ คือ SIEMENS ได้จ้างแรงงานไทยกว่า 1,200 คนเข้าทำงาน ถือเป็นการช่วยสร้างงานแก่คนไทย และรัฐบาลไทยได้ดูแลบริษัทต่างๆ ของเยอรมนีเป็นอย่างดี นอกจากนี้ได้ร่วมมือกันในการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะการร่วมสร้างค่านิยมแก่ผู้เรียนสายอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ซึ่งเยอรมนีได้นำระบบการศึกษาแบบทวิภาคี โดยการพัฒนาหลักสูตรให้มีภาคปฏิบัติในสถานประกอบการควบคู่กับการเรียนภาคทฤษฎีที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มาใช้ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในสาขาสำคัญ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีความร่วมมือในด้านอื่นๆ เช่น การจ้างงาน การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดในระดับเจ้าหน้าที่กันต่อไป
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า เมื่อ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้การต้อนรับ นายหนิงฟู่ขุย (H.E. Mr. Ning Fukui) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งจะร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะการขอรับการสนับสนุนอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาจีนให้มาปฏิบัติงานในสาขาภาษาจีน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน ตลอดจน ความร่วมมือด้านความปลอดภัย โดยฝ่ายจีนเสนอให้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และองค์กรภาครัฐว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน (State Administration of Work Safety: SAWS) พร้อมเชิญคณะผู้แทนไทยเดินทางไปลงนามข้อตกลงความร่วมมือฯ และศึกษาการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะประสานงานจัดทำร่างข้อตกลงความร่วมมือฯ และขอเสนอความเห็นชอบจากรัฐบาลของแต่ละประเทศก่อนการขับเคลื่อนให้มีการลงนามต่อไป
ในขณะเดียวกัน นายเคียวอิ ยานากิซาวา (Kyoei Yanagisawa) ประธานองค์กร IM Japan ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ไทยส่งผู้ฝึกงานด้านเทคนิคไปญี่ปุ่นเพิ่มอีก 2 สาขา คือ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ และพนักงานดูแลความสะอาด ความปลอดภัยในอาคาร ทั้งนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นประทับใจในแรงงานไทยที่มีคุณสมบัติและมีทักษะการทำงานที่หลากหลาย ทำงานด้วยความอดทนและทำงานด้วยใจ (Multi-Skill, Hard Working and Doing by Heart)
นอกจากนี้ นายเคียวอิฯ ได้แจ้งอีกว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเพิ่มการฝึกงาน จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี ซึ่งจะยกระดับฝีมือให้ถึงระดับหัวหน้างานได้ จึงถือว่าเป็นโอกาสของแรงงานไทยที่จะสามารถพัฒนาตนเองในการรองรับการลงทุนและอุตสาหกรรมยุคไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง
ด้าน นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม ได้นำเรียนพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำร่างประกาศกระทรวงแรงงาน และพระราชกฤษฎีกาขยายความคุ้มครองลูกจ้างในกิจการเกษตรและประมงที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ให้ได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคม รวม 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ตาย ว่างงาน และชราภาพ เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน และเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาได้เห็นชอบประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพและประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เรื่อง กำหนดอัตราและระยะเวลาการรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ โดยกรณีทุพพลภาพมีระดับการสูญเสียไม่รุนแรง ตั้งแต่ร้อยละ 35 ขึ้นไปแต่ไม่ถึงร้อยละ 50 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ และกรณีทุพพลภาพระดับความสูญเสียรุนแรง ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันไปตลอดชีวิต โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้เดือนกรกฎาคมนี้
ข่าวเด่น