การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ เปิดตัวมิวสิควิดีโอ “ทำไปทำไม” ภาพยนตร์แอนิเมชั่น หนังสือการ์ตูนดึงศิลปิน “คัตโตะ” ร่วมรณรงค์ และเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ นำสื่อไปเผยแพร่ปลูกฝังจิตสำนึกลงสู่นักเรียนและเยาวชน มุ่งเพิ่มความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ ( 22 มิถุนายน 2559) เวลา ประมาณ 9.30 น. นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นประธานในงานเปิดตัวสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่โครงการ “รณรงค์จุดตัดปลอดภัย” โดยมี นายวุฒิชาติ กลัยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ และผู้บริหารให้การต้อนรับ
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้การรถไฟฯ ดำเนินงานสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านในบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟและรถยนต์ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว การรถไฟฯ ได้จัดทำแผนงานระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2560 เพื่อเร่งดำเนินการติดตั้งระบบและเครื่องกั้นอัตโนมัติสร้างความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2558 ติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟและรถยนต์ที่ได้รับอนุญาตเสร็จสิ้นแล้ว 130 แห่ง และปี 2559 อยู่ระหว่างการติดตั้งอีก 200 แห่ง รวมเป็น 330 แห่งพร้อมตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2560 จะต้องติดตั้งเครื่องกั้นฯ บริเวณจุดตัดรถไฟที่ได้รับอนุญาตครบทั่วทั้งประเทศ
ในโอกาสนี้ การรถไฟฯ ยังได้เปิดตัวสื่อรณรงค์ความปลอดภัย เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และช่องทางต่างๆ สู่ประชาชน พร้อมกับมี คัตโตะ ศิลปินมีชื่อเสียง มาร่วมภายในงานเพื่อช่วยรณรงค์ สร้างความตระหนักแก่สังคม ตลอดจนมีการจัดทำมิวสิควิดีโอ “ทำไปทำไม” ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น หนังสือการ์ตูนเรื่อง “ป้ายสัญญาณและเครื่องกั้น” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ทางข้ามจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ -รถยนต์ มารณรงค์ประชาสัมพันธ์อีกด้วย
นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมนำสื่อประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ไปเผยแพร่ให้นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นการช่วยปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนน และการใช้ทางสัญจรผ่านจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์อย่างถูกต้องแก่เด็ก และเยาวชน ซึ่งจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยในการขับรถที่ดีในวันข้างหน้า สามารถช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนในอนาคต
นายวุฒิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ ได้ตระหนักถึงการสร้างความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุของประชาชนมาโดยตลอด โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในการแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟและรถยนต์ทั่วประเทศร่วมกัน ด้วยการจัดกำลังเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัย ณ บริเวณจุดตัดทางรถไฟ ร่วมกับนายสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตามเวลาของรถไฟที่ผ่านในพื้นที่ ตลอดจน มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินรถไฟ เช่น เวลาผ่าน จำนวนเที่ยว ฯลฯ ผ่านหอกระจายข่าว และช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการเดินทางอีกด้วย
นอกจากนี้การรถไฟฯ ยังมุ่งเน้นให้ความรู้ และขอความร่วมมือให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางผ่านจุดตัดทางรถไฟ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ทางบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เช่น ไม่ขับรถแซงขึ้นหน้ารถอื่นในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางรถไฟ ลดความเร็วและหยุดรถห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อรถไฟกำลังจะแล่นผ่าน ที่สำคัญก่อนข้ามทางรถไฟไม่ว่าจะมีเครื่องหมาย ไม้กั้น หรือไม่มีก็ตาม จะต้องหยุดเมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีแล้วจึงค่อยขับผ่านข้ามทางรถไฟด้วยความระมัดระวังทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือในกรณีหากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานรถไฟที่อยู่ใกล้เคียง หรือสายด่วน 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวเด่น