นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2559 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 22 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว จากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 491 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มอีก 273 คน สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 128 ล้านบาท ได้แก่ การรับจ้างผลิตสินค้า บริการให้คำปรึกษาแนะนำ บริการทำการตลาดและส่งเสริมการขาย บริการให้เช่าพื้นที่ และบริการตรวจสอบคุณภาพและเก็บรักษาท่อลำเลียงน้ำมันและก๊าซ โดยส่วนใหญ่เป็น คนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า และคู่ค้า จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 3 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้เช่าพื้นที่ลานจอดรถ และพื้นที่อาคารโรงงานบางส่วน โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น
3. ธุรกิจบริการเป็นสำนักผู้แทน / สำนักงานภูมิภาค จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 19 ล้านบาท
เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนให้สำนักงานใหญ่ และเป็นการให้คำแนะนำ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือรวมถึงการหาแหล่งจัดซื้อและตรวจสอบคุณภาพสินค้าในประเทศไทยในสำนักงานใหญ่ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
4. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ / คู่สัญญาเอกชน จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 301 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง และติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งจัดหาตู้รถไฟสำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ให้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริการจัดหา ติดตั้ง และทดสอบอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อส่งผ่านข้อมูลในเครือข่ายระบบ 3G ให้แก่ บริษัท ทรู มูฟ เอช โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และบัลแกเรีย
5. ธุรกิจนายหน้า / ค้าปลีก / ค้าส่ง จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 40 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วน การค้าส่งเม็ดพลาสติกใช้ในการผลิตเปลือกและฝาแบตเตอรี่ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2559 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 243 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 98 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง จำนวน 10 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 31 และมีเงินลงทุนลดลง 1,076 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 69 เนื่องจากในเดือนมิถุนายน 2558 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ให้แก่ กฟผ. ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 (มกราคม-มิถุนายน 2559) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 179 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,711 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 28 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 14 และเงินลงทุนลดลง 4,296 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 54
ข่าวเด่น