ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์เตรียมแผนรับมือผลไม้ออกสู่ตลาดคาดน้อยกว่าความต้องการ


 


นายสมชาติ  สร้อยทอง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมแผนรับมือกับสินค้าที่จะออกสู่ตลาดได้ทันท่วงที โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง คาดการณ์ผลผลิต เริ่มออกสู่ตลาด  ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2559 แต่เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศร้อนและแล้งยาวอุณหภูมิสูงและต่ำแตกต่างกันมาก ส่งผลให้ผลไม้ออกล่าช้า ในลักษณะกระจายตัวแต่อาจมีการกระจุกตัวบ้าง ในบางช่วง นอกจากนี้ผลไม้อาจมีปัญหาทางด้านคุณภาพจากผลกระทบภัยแล้ง และฝนที่ตกชุกในบางช่วง บางที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ แต่โดยรวมแล้วคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าความต้องการของตลาด แต่อาจมีการกระจุกตัว     ล้นตลาดบ้างในช่วงสั้น ๆ โดยจำแนกผลไม้แต่ละชนิด  ดังนี้
 

• ทุเรียน แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และยะลา ช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2559 มีผลผลิตรวมประมาณ 226,841 ตัน ความต้องการของตลาด      มีจำนวน 395,543 ตัน มีตลาดรองรับ คือ ประเทศจีน 65% ตลาด กทม. 24% ที่เหลือกระจายในประเทศ

• มังคุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร นราธิวาส พังงา และระนอง   ช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก คือ ช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2559 มีผลผลิตรวมประมาณ 104,581 ตัน ความต้องการของตลาดมีจำนวน 122,932 ตัน โดยมีตลาดรองรับ คือ ส่งออก 45% ตลาด กทม./หัวเมือง 32% Modern Trade 0.37% แปรรูป 0.83%   ที่เหลือกระจายในประเทศ

• เงาะ แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ผลผลิตรวมประมาณ 68,150 ตัน ช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก คือ ช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2559 ความต้องการของตลาด     มีจำนวน 60,386 ตัน โดยมีตลาดรองรับ คือ ส่งออก 8.46% โรงงานแปรรูป 3.63% Modern Trade 2.53%      ที่เหลือกระจายจำหน่ายในประเทศ

• ลองกอง แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ชุมพร ยะลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และปัตตานี ช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก คือ ช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2559 ผลผลิตรวมประมาณ 60,883 ตัน       ความต้องการของตลาดมีจำนวน 65,626 ตัน โดยมีตลาดรองรับ คือ ส่งออก 4% Modern Trade 1.68% ที่เหลือกระจายจำหน่ายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผลไม้ส่วนใหญ่ของภาคใต้ยังไม่ออกสู่ตลาด ยกเว้นทุเรียน และมังคุด มีออกสู่ตลาดบ้างประปราย การซื้อขายยังไม่คึกคัก หมอนทอง เกรด AB ราคา 78-80 บาท/กก. สำหรับมังคุดมีผลผลิตจากแถบจังหวัดระนอง ออกสู่ตลาดยังไม่มาก ราคาซื้อขายเกรดคละใหญ่ 60-65 บาท/กก. เกรดคละเล็ก 30 บาท/กก.    ผลมีผิวลาย เนื่องจากผลกระทบภัยแล้ง และขาดการดูแลบำรุงรักษาที่ดีของชาวสวน แต่เนื้อในมีคุณภาพดี

แผนการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย

-       การกระจายผลไม้ในประเทศ โดยได้เชื่อมโยงกับตลาดกลางผลไม้ ศูนย์จำหน่าย  Farm Outlet และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ทั้งนี้ ได้จัดหาสถานที่ให้เกษตรกรนำผลผลิตไปจำหน่ายโดยตรง อาทิ    งานธงฟ้า ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดโรงงานยาสูบ ตลาดนัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และตลาดใน กทม. เป็นต้น

 

-       ด้านการส่งออกตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการผลไม้สดและผลิตภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้น โดยผลไม้ที่มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2559 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด โดยราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้  ในปี 2557 - 2558 ของทุเรียน ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ นายสมชาติ ได้กล่าวถึง การสร้างเครือข่ายธุรกิจ Biz Club ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มจัดตั้งศูนย์เครือข่ายธุรกิจ (Biz Club) ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการจัดตั้งแล้วเสร็จทุกภูมิภาค จำนวน 77 แห่ง มีสมาชิกรวม 8,664 ราย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แก้ไขปัญหา และส่งเสริมพัฒนาธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ โดยมีกิจกรรม ดังนี้

1. การประชุมเครือข่ายธุรกิจ เป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจและสร้างพันธมิตรในการทำงาน       กับหน่วยงานในพื้นที่ แลกเปลี่ยนระดมความเห็นแนวทางและความต้องการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม ได้จัดกิจกรรมครบทั้ง 77 แห่ง เป็นจำนวน 114 ครั้ง ผู้เข้าร่วม 1,142 ราย  ดำเนินการทุกจังหวัด

2. การจัดอบรมเพื่อพัฒนาเครือข่ายธุรกิจ  โดยเป็นการให้ความรู้ เพิ่มทักษะ การปรึกษาแนะนำการประกอบธุรกิจของสมาชิกในด้านต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการ การตลาด การสร้างตราสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ตลอดจนการบริหารกลุ่มเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจ ในช่วงเดือนพฤษภาคมได้จัดกิจกรรมเป็นจำนวน 52 ครั้ง  ผู้เข้าร่วม 758 คน เช่น จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พัทลุง ภูเก็ต พังงา ระยอง ชลบุรี อุดรธานี ขอนแก่น และสกลนคร เป็นต้น

3. การเชื่อมโยงเครือข่าย และส่งเสริมธุรกิจ (แสดงสินค้า/ออกบูธ) โดยเป็นการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม ได้เข้าร่วมเป็นจำนวน 52 ครั้ง ผู้ประกอบการ 481 ราย โดยมียอดจำหน่ายรวมมากกว่า 7,000,000 บาท เช่น จังหวัดอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี        สุราษฎร์ธานี พัทลุง ภูเก็ต พังงา สงขลา นราธิวาส ระยอง อุดรธานี สกลนคร นครพนม เชียงราย และน่าน      เป็นต้น

         


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 มิ.ย. 2559 เวลา : 12:24:22

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:36 am