เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นายTsutomu Shimura รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น ได้หารือร่วมกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงความคืบหน้าผลการศึกษาความเป็นไปได้ขั้นกลางของโครงการการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)ไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ระยะทาง 672กิโลเมตร (กม.) โดยเห็นควรแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. และระยะที่ 2 ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 292 กม.
ผลการศึกษาเห็นว่าควรจะต้องก่อสร้างระยะ 1 คือ ช่วงกรุงเทพฯ - พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตรก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าการก่อสร้างครั้งเดียวตลอดทั้งเส้นทาง แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขการที่ไทยสามารถนำที่ดินบริเวณสองข้างทาง และโดยรอบสถานีมาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับเปิดให้บริการเดินรถด้วย โดยคาดว่าญี่ปุ่นจะเสนอผลการศึกษาขั้นกลางอย่างเป็นทางการให้ฝ่ายไทยเร็วๆ นี้ จากนั้นจะนำเสนอผลการศึกษาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ก.ค.นี้ หาก ครม.เห็นชอบรายงานผลการศึกษาขั้นกลาง ญี่ปุ่นจะเริ่มศึกษาความเหมาะสมขั้นสุดท้ายและทำการออกแบบการก่อสร้างอย่างละเอียดต่อไป คาดเริ่มก่อสร้างในปี 2561 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลาที่เร่งรัดกว่ากำหนดเดิมที่ญี่ปุ่นคาดว่าจะใช้เวลาอย่างต่ำ 5 ปี
สำหรับรูปแบบการลงทุนยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนการบริหารการเดินรถมีความเป็นไปได้ที่จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารเฉพาะเส้นทาง เช่น เฉพาะสายเหนือ เหมือนกับที่ญี่ปุ่นดำเนินการ
นายอาคมกล่าวถึงการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินว่า อาจต้องเสนอของบประมาณจากทางรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในโครงการศึกษาแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยขณะนี้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เข้ามาช่วยวางแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย รวมทั้งขอความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงให้เข้ามาช่วยด้วย ซึ่งขณะนี้ไจก้าตอบรับเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการศึกษาแผนพัฒนาที่ดินแล้ว ซึ่งจะเป็นการศึกษาคู่ขนานไปกับแผนการศึกษาที่ฝ่ายไทยจัดจ้างเอกชนเข้ามาศึกษาอย่างเป็นทางการ
ข่าวเด่น