ดีเดย์27 มิถุนายน 2559 กรมการขนส่งทางบก เริ่มบังคับใช้มาตรการตรวจสอบรถท่องเที่ยวต่างชาติก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว
ดีเดย์ 27 มิถุนายน 2559 กรมการขนส่งทางบก เริ่มบังคับใช้มาตรการตรวจสอบรถท่องเที่ยวต่างชาติก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว เชื่อมั่นการกำหนดข้อปฏิบัติที่ชัดเจนให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายไทย และมีมาตรฐานในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีของประเทศ
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินการตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาตระยะเวลาในการใช้รถและเครื่องหมายแสดงการใช้รถที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อใช้ในการท่องเที่ยวหรือการอื่นใด ที่มีความจำเป็นเฉพาะกรณี พ.ศ.2559 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป ซึ่งจะอนุญาตให้เฉพาะรถยนต์นั่งรวมคนขับแล้วไม่เกิน 9 ที่นั่งแต่ต้องไม่ใช่ลักษณะเป็นรถตู้ และรถยนต์บรรทุก (ปิกอัพ) ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม (ยกเว้น รถที่นำเข้ามาตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น, รถของประเทศที่ไทยมีความตกลงด้านการขนส่งทางถนน (ลาว, มาเลเซีย, สิงคโปร์) และรถประจำถิ่น ให้ดำเนินการผ่านพรมแดนเข้า-ออกตามข้อตกลงเดิมที่มีร่วมกัน) ทั้งนี้ กรมศุลกากรและกรมการขนส่งทางบกร่วมกันพัฒนาระบบสารสนเทศ Thailand Transport Application: TTA เพื่อรองรับการดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลรถที่ขออนุญาตผ่านเข้าออกประเทศทุกคันอย่างเป็นระบบ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการใช้รถสามารถตรวจสอบข้อมูลของรถได้ตลอดเวลา สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดูแลการใช้รถให้เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามกฎหมายไทย
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการขออนุญาต นักท่องเที่ยวที่จะนำรถเข้ามาใช้เพื่อท่องเที่ยวในประเทศไทยต้องยื่นเอกสารให้ครบถ้วนโดยต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยเท่านั้น ได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทางของผู้ขออนุญาตใช้รถและผู้ขับรถที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน, สำเนาใบอนุญาตขับรถตรงตามประเภทของรถที่ยื่นขออนุญาตและต้องมีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน, สำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถ, ภาพถ่ายตัวรถ, หนังสือรับรองการตรวจสภาพรถ, รายละเอียดการเดินทาง, สำเนาหลักฐานการเอาประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและหลักฐานการเอาประกันภัยประเภท 3 ซึ่งมีความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท/คน/ครั้ง และมีความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท/ครั้ง โดยให้ ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับการรับรองเป็นผู้ยื่นเอกสารและขออนุญาตผ่านระบบ TTA ล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วันทำการ เพื่อให้สำนักงานขนส่งจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของด่านพรมแดนศุลกากรที่ขอนำรถเข้าตรวจสอบเอกสารหลักฐาน หากครบถ้วนถูกต้องให้นำเสนอนายทะเบียนอนุญาต ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน รวมแล้วต้องไม่เกิน 60 วัน ในรอบปีปฏิทิน โดยมีค่าธรรมเนียมการขออนุญาตครั้งละ 500 บาท/คัน ค่าเครื่องหมายแสดงการใช้รถแผ่นละ 500 บาท และค่าคำขอ 5 บาท
ทั้งนี้ จะอนุญาตให้นำมาใช้ได้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านพรมแดนศุลกากรที่นำรถเข้ามาเท่านั้น กรณีผู้ขับรถมีใบอนุญาตขับรถที่กฎหมายไทยไม่รับรองผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องนำผู้ขับรถไปขอรับใบอนุญาตขับรถในวันแรกที่นำรถเข้ามาในประเทศ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของด่านพรมแดนศุลกากรที่นำรถเข้ามา ซึ่งจะมีการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร มารยาทในการขับรถของประเทศไทยด้วย
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตแล้ว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้รถและปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ใช้รถได้เฉพาะภายในเขตจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของด่านศุลกากรที่เข้ามาและต้องออก ณ ด่านพรมแดนศุลกากรในจังหวัดเดียวกันตามกำหนดเวลา ต้องติดเครื่องหมายแสดงการใช้รถไว้ในบริเวณที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน มีใบอนุญาตขับรถที่กฎหมายไทยรับรอง มีสัญญาและกรมธรรม์ประกันภัย มีสำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถพร้อมแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตลอดระยะเวลาการใช้รถในประเทศไทย และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรและกฎหมายอื่นๆ ของประเทศไทยอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายไทยทันที โดยผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย โดยจะบันทึกประวัติความผิดของทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไว้ในระบบฐานข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาการอนุญาตครั้งต่อไป ทั้งนี้ การกำหนดข้อปฏิบัติที่ชัดเจนให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายของประเทศไทย และมีมาตรฐานในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่ดีของประเทศ และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นำรถเข้ามาใช้ในประเทศและคนไทยในประเทศด้วย
ข่าวเด่น