พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.59 ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องโดยทั่วไป และสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ เพราะเริ่มมีฝนตกบริเวณเหนือเขื่อน ซึ่งเขื่อนหลายแห่งเริ่มมีน้ำไหลลงอ่างสะสมมากขึ้น เช่น เขื่อนภูมิพล 43.03 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนสิริกิติ์ 45.98 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 16.10 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 6.16 ล้าน ลบ.ม.รวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 30,849 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างรวมกัน แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก และสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก
"รัฐบาลได้กำชับให้หน่วยงานด้านน้ำพยายามกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมา และไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ 1,406.41 ล้านบาท ให้ก่อสร้างแก้มลิง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ระบบส่งน้ำ ระบบผันน้ำ และเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม รวม 35 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติภัยแล้ง 23 จังหวัด หน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าภัยแล้งจะยุติ เช่น การแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค และสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าเพิ่มน้ำต้นทุนอีก 3,000 ล้าน ลบ.ม.จากปฏิบัติการฝนหลวง โดยอาศัยอิทธิผลของร่องฝนและพายุจร ตั้งแต่เดือน มิ.ย. - พ.ย.59
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากเตือนพี่น้องประชาชนว่า แม้ภาวะภัยแล้งจะเริ่มเบาบางลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ฝนอาจทิ้งช่วงได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. - ต้นเดือน ก.ค.ปีนี้ รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีไม่มากนัก อาจส่งผลต่อการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งปีหน้า จึงได้กำชับให้หน่วยงานภาครัฐวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขอความร่วมมือประชาชนสำรองน้ำฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ ส่วนเกษตรกรต้องวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ข่าวเด่น