ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในปี 2559 นี้ อยู่ระดับรุนแรง คาดมีผู้เสพยาประมาณ 2.7 ล้านคน ในรอบ 6 เดือนมานี้บำบัดได้ 84,000กว่าคน เร่งระดมการคัดกรอง ปรับกลยุทธ์เพิ่มความถี่ติดตามทุก 3 เดือนหลังบำบัด ระบุปัญหาซับซ้อนขึ้น ผู้เสพเกือบร้อยละ 60 เป็นยาวชนอายุ 15-29 ปี ใช้ยาบ้าเป็นหลัก แนวโน้มใช้กัญชาก้าวกระโดด มีการใช้ยา 2 ชนิดผสมกันเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 11 ขวบ ใช้เด็กเล็กเดินยา และใช้การตลาดขยายลูกค้า ซื้อ 1 แถม 1
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศปส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ของสำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติในช่วงเดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 พบว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและเข้มข้น เนื่องจากนอกประเทศยังมีการผลิตยาเสพติดจำนวนมาก ส่งผลต่อสถานการณ์ของไทยรุนแรงต่อไปอีก คาดว่าในปี 2559 นี้ ทั่วประเทศมีผู้เสพยาประมาณ 2.7 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2559 นี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าบำบัดผู้เสพยาเสพติดให้ได้ 220,000 คน ผ่านไปแล้ว 6 เดือน ผลการบำบัดรวมทั้ง 3 ระบบ คือระบบสมัครใน ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ รวมจำนวน 84,326 คน หรือประมาณร้อยละ 38 ของเป้าหมาย จึงได้เร่งรัดระบบการค้นหา คัดกรองผู้เสพในชุมชน หมู่บ้านต่างๆ อย่างเข้มข้นตามโครงการประชารัฐ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติดพ.ศ.2559-2560
ในส่วนของกรม สบส. มีอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.ที่ผ่านการอบรมแล้ว ร่วมกับภาคส่วนต่างๆค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยง เข้ารับการตรวจคัดกรองอาการความรุนแรงของการใช้ยาเสพติด และส่งบำบัดที่สถานพยาบาลในแต่ละพื้นที่ที่กำหนด หรือที่ค่ายขวัญแผ่นดิน ตามระดับอาการความรุนแรง และเป็นผู้ร่วมติดตามผู้ที่ผ่านการบำบัดและกลับมาอยู่ในชุมชน โดยได้ปรับระบบการติดตามภายหลังการบำบัดไปแล้วให้ถี่ขึ้นคือทุก 3 เดือน รวม 4 ครั้งต่อปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ไม่ให้ผู้ผ่านการบำบัดหวนกลับไปเสพยาซ้ำอีก โดยในรอบ 6 เดือนนี้พบว่าผู้ผ่านการบำบัดหยุดเสพยาได้มากกว่าร้อยละ 80
“เรื่องที่น่าเป็นห่วง ในระยะหลังๆมานี้สถานการณ์ของยาเสพติดมีความสลับซับซ้อนกว่าอดีต เด็กกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายในวงจรค้ายาเสพติด โดยได้รับรายงานว่ามีการใช้เด็กเล็กอายุ 7 ขวบ ส่งยาเสพติดหรือที่เรียกว่าเดินยา และมีการขายแบบโปรโมชั่น ซื้อ1 แถมเพิ่มอีก 1 ชนิด ส่งผลให้จำนวนผู้เสพขยายวงเพิ่มขึ้น ส่วนข้อมูลด้านผู้เสพมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ประการแรก อายุผู้เสพติดยาที่เข้ารับการบำบัดพบน้อยสุดเพียง 11ขวบ มี 5 คน อยู่ในกทม. ร้อยเอ็ด อุดรธานี เชียงรายและแพร่ กลุ่มผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่ร้อยละ 59 อายุ 15-29 ปี มากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-19 ปีซึ่งอยู่ในวัยเรียนมัธยมศึกษา และพบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 19 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 21 ส่วนกลุ่มวัยอื่นมีแนวโน้มลดลง ยาบ้ายังเป็นตัวยาที่ใช้มากอันดับ 1 แต่แนวโน้มลดลงจากร้อยละ68 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 59 ในปีนี้ รองลงมาคือกัญชาใช้ร้อยละ 23 ยอดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเดิมที่ใช้ร้อยละ 10 เฮโรอีนก็เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 0.6 เป็นร้อยละ 3 ข้อมูลในระยะหลังๆ ที่สถาบันธัญญารักษ์รายงานมีการใช้ยาเสพติด 2 ชนิดผสมกันหรือเรียกว่าค็อกเทลเช่นยาบ้ากับกัญชา พบร้อยละ 4 เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว จากปี 2554 ที่ใช้ร้อยละ 0.05 และใช้ยาเสพติด 2 ตัวสลับกัน ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจากร้อยละ 62 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 69 ในปี 2558 ทำให้การบำบัดมีความยุ่งยากขึ้น” นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าว
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อไปว่า สาเหตุการเสพยาส่วนใหญ่ยังเป็นเพื่อนชวนพบร้อยละ 50 รองลงมาคือทดลองใช้ร้อยละ 41 ทั้งนี้การบำบัดผู้เสพยาเสพติด จะคล้ายการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ใช้เวลานากว่าโรคอื่น ประการสำคัญและได้ผลดีที่สุดคือต้องบำบัดทั้งครอบครัว ครอบครัวต้องมีความเข้าใจและถือว่าเป็นความรับผิดชอบของครอบครัวด้วย จึงต้องร่วมมือช่วยกัน โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นหมอเป็นพยาบาลดูแลคนไข้ ส่วนบ้านคือสถานพยาบาลที่ใช้บำบัด จะทำให้ผู้เสพสามารถเลิกเสพยาได้สำเร็จ โดยสามารถปรึกษาสายด่วนได้ที่หมายเลข 1165
ข่าวเด่น