นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน และนายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันเปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวในโลกโซเชียลมีเดียกล่าวถึงข้อเรียกร้องของ NGO 5 ข้อและข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆด้านแรงงาน โดยนำเสนอว่าเป็นข้อเรียกร้องของทางการเมียนมา ขอเรียนว่าข้อเรียกร้องต่างๆที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นไม่เป็นข้อเรียกร้องของทางการเมียนมาแต่ประการใด
ทั้งนี้ ช่วงระหว่าง นาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เดินทางมาเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23 – 25 มิ.ย. 59 ทั้งสองฝ่าย ได้มีการหารือกันอย่างสร้างสรรค์ มีผลเป็นรูปธรรมและมีความสำคัญต่อประชาชนทั้งสองประเทศในแนวทาง "จะก้าวหน้าไปด้วยกัน” โดยเฉพาะด้านแรงงาน ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน จุดเน้นคือทั้งสองฝ่ายยอมรับหลักการของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกันให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล เพื่อป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ และร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ สำหรับที่สองเป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน จุดเน้นเพื่อป้องกันและปราบปรามการข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงานโดยครอบคลุมทั้งกระบวนการส่งและรับ การคุ้มครอง สัญญาจ้าง การรับรองเอกสาร การอบรมและการให้ความรู้แรงงานก่อนการเดินทาง การตรวจลงตรา อนุญาตทำงาน บริการสุขภาพ การส่งกลับประเทศต้นทาง การระงับข้อพิพาท หน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ประการสำคัญ เมียนมาจะต้องจัดให้มีการอบรมก่อนการเดินทางให้กับคนงาน โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายด้วย โดยการลงนามทั้งสองฉบับนอกจากแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล และมีความรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมๆ กับการเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง เพื่อความผาสุกและความมั่งคั่งของประชาชนทั้งสองประเทศ
นายเสข วรรณเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและนาง ออง ซาน ซูจี มีประเด็นหลัก 3 ด้าน คือ การคุ้มครองแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ซึ่งไทยได้ให้การดูแลสิทธิแรงงานตามกฎหมาย มีระบบการร้องทุกข์ออนไลน์ผ่านสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1694 มีล่ามเมียนมาบริการ ทั้งจัดให้มีการเปิดศูนย์แรกรับและส่งกลับที่ อ.แม่สอด จ.ตาก รวมทั้งริเริ่มจัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือในจังหวัดที่มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก และเมียนมาจะดูแลนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในเมียนมาอย่างดีด้วย ด้านที่สอง คือความร่วมมือด้านการพัฒนา เน้นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนาไปพร้อมกันและก้าวหน้าไปด้วยกัน และเห็นพ้องเพิ่มสายการบินของไทยไปยังเมียนมา ด้านที่สามเป็นประเด็นเศรษฐกิจ โดยเห็นพ้องเพิ่มความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีกับประเทศที่สาม เช่น ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตลอดจนร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคภายใต้กรอบอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าการมาเยือนของ นางออง ซาน ซูจี ในครั้งนี้ ได้พูดคุยเพื่อความผาสุก และอยู่ดีกินดีของประชาชนทั้งสองประเทศ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้น จากกระแสข่าวข้อเรียกร้องของ NGOsและข้อเรียกร้องอื่นๆ เป็นเพียงข้อเรียกร้องที่เสนอผ่านทางสื่อเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อเรียกร้องของทางการเมียนมาแต่ประการใด และประการสำคัญที่สุดในความร่วมมือด้านแรงงาน ทั้งสองประเทศมุ่งเน้นการส่งเสริมการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
ข่าวเด่น