ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
โพลระบุปชช.80% ไม่เห็นด้วยแนวคิดยกเลิกเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1


 


รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สถานการณ์ยาเสพติดกับมุมมองต่อปัญหาที่เป็นอยู่  :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,102 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7  ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
 
แกนนำชุมชนไม่ถึง 1 ใน 3 ที่การติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวคิดการยกเลิก "เมทแอมเฟตามีน" หรือ ยาบ้า ออกจากบัญชียาเสพติดรุนแรง  โดยพบว่าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ไม่เห็นด้วยหากจะให้ "เมทแอมเฟตามีน" หรือ ยาบ้า เป็นยาถูกกฎหมาย โดยจัดให้อยู่ในกลุ่มยารักษาโรค โดยระบุเหตุผลเพราะเกรงว่าจะมีการนำไปแปรสภาพให้รุนแรงมากกว่าเดิม รวมถึงคิดว่าเหมือนเป็นการส่งเสริมให้ติดยามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 81.6) ยังมองว่า ในอนาคตหากจะมีการผลิตยาบ้าจำหน่ายในราคาถูก  โดยแพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้ผู้สมัครใจบำบัดนั้น น่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี  โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 61.2 เห็นว่า การทำให้ "เมทแอมเฟตามีน"หรือ ยาบ้า เป็นยาถูกกฎหมาย ไม่น่าจะช่วยลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในสังคมไทยได้
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อไปกรณี ควรถอด “กัญชา และ กระท่อม” จากบัญชีพืชเสพติด เนื่องจากมีประโยชน์ในทางการแพทย์ด้วยเช่นกันนั้น  ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 57.3 ระบุเห็นด้วย เพราะอย่างน้อยก็เป็นพืชที่มีประโยชน์ ถ้านำมาใช้ในทางที่ถูก  รวมถึงมองว่าเป็นสมุนไพร เป็นพืชธรรมชาติ ที่ช่วยรักษาโรคของชาวบ้านมาแต่โบราณ  ในขณะที่ร้อยละ 42.7 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะเป็นสารเสพติดเหมือนกัน ที่มีโทษต่อร่างกาย /เป็นยาทำลายประสาท รวมถึงจะทำให้เด็กและเยาวชนให้ความสนใจในด้านนี้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
 
สำหรับความคิดเห็นกรณีหากจะมีการพิจารณากำหนดโทษสูงสุดของผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เสพยาเสพติด เป็นโทษประหารชีวิตแทนการจำคุกตลอดชีวิต นั้นพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ยาเสพติดเป็นความผิดรุนแรงควรได้รับโทษสูงสุด/จะทำให้คนมีความเกรงกลัวกฎหมายมากยิ่งขึ้น/เป็นตัวอย่างให้คนที่คิดจะทำตามได้คิดก่อนทำ  ในขณะที่ร้อยละ  16.1 ระบุไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่า  อาจมีการลงโทษคนผิด/อาจมีแพะถ้ากระบวนการสืบสวนยังไม่ดีพอ /โทษประหารง่ายเกินไป ต้องทำให้หลาบจำ ต้องจำคุกตลอดชีวิต และบางส่วนระบุว่าคิดว่ายังไม่ร้ายแรงจนต้องประหารชีวิต เพราะส่วนมากก็จะโดนหลอกมา
 
ประเด็นสำคัญคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีการหาซื้อยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนของตนนั้น พบว่า ร้อยละ 42.7 ระบุว่ายังสามารถหาซื้อได้   ในขณะที่ร้อยละ 37.2 ระบุ คิดว่าหาซื้อไม่ได้แล้ว และร้อยละ 20.1 ระบุไม่แน่ใจ ทั้งนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนของตนโดยภาพรวมพบว่า ร้อยละ 14.2 ระบุปัญหาอยู่ในระดับรุนแรง จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน ในขณะที่ ร้อยละ 40.5 ระบุมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นสร้างความเดือดร้อน  และร้อยละ 45.3 ระบุคิดว่าหมู่บ้าน/ชุมชนของตนไม่มีปัญหายาเสพติดแล้ว
 
นอกจากนี้แล้วผลการสำรวจ เมื่อสอบถามถึงหน่วยงานที่คิดว่าประชาชนจะไว้วางใจในการแจ้งเบาะแส และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติดให้ทราบ นั้นพบว่าลำดับที่หนึ่งที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ คือ หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง/เจ้าหน้าที่ทหาร/คสช. (ร้อยละ 48.2)  รองลงมาคือ ตำรวจ (ร้อยละ 22.7) และเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง/อำเภอ/ปลัดอำเภอ (ร้อยละ 9.1) ตามลำดับ  ทั้งนี้ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.7 ระบุคิดว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วในเรื่องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ในขณะที่ร้อยละ 13.3 คิดว่ายังไม่ถูกทาง โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรคือมักจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ  รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายยังไม่มีความต่อเนื่อง ในขณะที่การปราบปรามก็ยังทำได้ไม่เด็ดขาดจริงจัง
 
ประเด็นสำคัญสุดท้าย ตัวอย่างแกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อยละ (ร้อยละ 98.8 ) พร้อมที่จะสนับสนุนแนวทางของพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว. กระทรวงยุติธรรมในการเดินหน้าตามแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559-2560” 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2559 เวลา : 12:28:57

17-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 17, 2024, 11:39 am