ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ผุดเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศแล้ว 650 แห่ง ผลักดันนโยบายลดต้นทุน


 


รัฐมนตรีเกษตรฯ รุกวางรากฐานช่วยเหลือเกษตรกร ผุดเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ 650 แห่ง พร้อมขับเคลื่อนการทำงานสู่จังหวัดโดยบูรณาการทำงานร่วมทุกกรม

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2559 ที่ประกาศเป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร จึงได้มีการแก้ไขปัญหา วางแผนทำเกษตรแบบยั่งยืน พร้อมวางรากฐานเกษตรในระยะยาว โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ หรือใช้พื้นที่ให้น้อยลง แต่เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น อีกทั้งเป็นเพื่อให้เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย โดยจะสามารถลดต้นทุนได้ และจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน รวมไปถึงการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการ ใช้องค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามา เพื่อให้สินค้าตรงตามความต้องการของตลาด อาทิ สินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  สินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคได้มีสุขภาพที่ดี เป็นต้น ที่สำคัญเป็นการเพิ่มช่องทางการแข่งขันและขับเคลื่อนการทำงานไปยังระดับจังหวัดอีกด้วย
 

ทั้งนี้ การลดต้นทุนดังกล่าว นำไปสู่แผนโครงการ “เกษตรแปลงใหญ่” คือการบริหารจัดการร่วมกันในทุกหน่วยงาน เป็นการบูรณาการร่วมกันครั้งแรก ปัจจุบันดำเนินการไป 650 แปลงใหญ่ทั่วประเทศแล้ว โดยเป็นเกษตรแปลงใหญ่ที่ร่วมกับเอกชน 44 แปลงใน 11 สินค้าเกษตร  โดยแต่ละจังหวัดจะตั้งแปลงใหญ่ 1 แปลงเพื่อเป็นต้นแบบ ขณะเดียวกัน “เกษตรแปลงใหญ่” ที่ดำเนินการไปแล้ว เช่นใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีนั้น เป็นการทำแปลงใหญ่ของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ที่เข้ามาดูแลและให้คำปรึกษาเกษตรกรในพื้นที่ โดยร่วมกันทำแปลงหญ้า พร้อมให้ความรู้ในการปลูกแปลงหญ้าที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นอาหารโค และเพิ่มประสิทธิภาพน้ำนม ทำให้ได้น้ำนมเพิ่มถึง 15% ดังนั้น รวมทั้งลดต้นทุนด้านการขนส่งลงด้วย    

พลเอก ฉัตรชัย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการ Agri Map หรือ แผนที่ฐานข้อมูลเกษตร ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถเปิดดูได้บนแอปพลิเคชั่นบนมือถือ สำหรับดำเนินการ กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ในเรื่องของการปลูกเกษตรที่เหมาะสม ซึ่งหากพบว่าพื้นที่ใดมีการปลูกที่ไม่เหมาะกับสภาพดิน อากาศ ต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยน เพื่อช่วยลดต้นทุน เพราะการดำเนินการในรูปแบบเดิม อาจส่งผลให้ต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยแผนการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกตาม Agri Map ในปี 59 จะเริ่มลงพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อุทัยธานี จ. ชัยภูมิ และ จ.บุรีรัมย์ ภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2559 เวลา : 13:40:51

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:13 am