วันนี้ (27 มิ.ย. 59) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในส่วนกลาง ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และถ่ายทอดสดการประชุมฯ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัดและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยในระดับจังหวัดและอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟังการประชุมฯ
โดยมีสรุปสาระสำคัญในการประชุมฯ ดังนี้ วาระแรกปลัดกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มซึ่งขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และในช่วงนี้เริ่มทยอยมีฝนตกเป็นระยะๆ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้พื้นดินเริ่มอุ้มน้ำและมีความเสี่ยงจะเกิดเหตุดินโคลนถล่ม ดังนั้น จึงขอให้ทุกจังหวัดดำเนินการ ดังนี้
1. ประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ โดยให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจในพื้นที่รับผิดชอบย้อนหลังไป 3 ปี ว่าในพื้นที่เคยเกิดเหตุดินโคลนถล่มหรือไม่ เน้นพิเศษในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดแพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย ดอยวาวี ดอยแม่สลอง เป็นต้น
2. ให้สำรวจการไหลของน้ำ โดยให้นายอำเภอดูรายละเอียดแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ และสร้างเครือข่ายร่วมกับเกษตรตำบล สาธารณสุขตำบล อสม. เชื่อมกับจิตอาสากาชาดในการเฝ้าระวัง สำหรับจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออกให้ประสานกับกรมชลประทานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ว่าจะมีการบริหารจัดการน้ำ หรือพร่องน้ำอย่างไร และใช้เวทีการประชุมคณะกรมการจังหวัดในการเตรียมความพร้อมเรื่องการพร่องน้ำ การรับน้ำ การเก็บน้ำร่วมกับทุกหน่วยงานในพื้นที่
3. การจัดตั้งองค์กรในพื้นที่ ให้ทุกจังหวัดจัดตั้ง "กองอำนวยการ" ระดับจังหวัด โดยมีป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นเลขานุการ และให้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา จัดทำบัญชีเครื่องมือ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ที่มีของทุกหน่วยงาน พร้อมรายละเอียดหน่วยงานที่ครอบครอง หมายเลขโทรศัพท์ให้พร้อมในการติดต่อเพื่อ เข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชม.
4. การติดตามประเมินผลให้ใช้เวทีการประชุมคณะกรมการจังหวัดในการติดตามความพร้อมของทุกอำเภอในพื้นที่ โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้ใช้กลไกของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการติดตามการดำเนินงานในพื้นด้วย 5. การใช้งบประมาณด้าน สาธารณภัย เน้นย้ำในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และให้ประกาศเฉพาะพื้นที่ที่เกิดภัยเท่านั้น โดยต้องมีข้อมูลปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และข้อมูลอื่นๆ
ประกอบด้วย 6. การให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ประสบภัย ขอให้นายอำเภอจับมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ในกรณีที่เกิดเหตุน้ำท่วมทั้งอำเภอ นายอำเภอจะต้องบูรณาการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทั้งหมด การแจกจ่ายถุงยังชีพต้องมีความเท่าเทียม ทั่วถึงทุกจุด เน้นย้ำในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติ คือ ต้องช่วยคนให้พ้นภัย ช่วยให้มีน้ำดื่ม - อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นเป็นอันดับแรก รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนด้วย
นอกจากนี้ ให้จังหวัดได้พิจารณาการใช้งบประมาณเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อนำมาใช้ในการเตรียมพร้อมรองรับน้ำฝนที่จะตกในพื้นที่ด้วย เช่น การขุดแหล่งน้ำขนาดเล็ก การทำหลุมขนมครกตามแนวพระราชดำริ เพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ให้มากที่สุด
2. เรื่อง การอำนวยการหรือสนับสนุนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนการออกเสียงประชามติตามกฎหมาย 3 ด้าน คือ 1) การให้ความร่วมมือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ โดยอบรมวิทยากรเพื่อลงไปขยายความรู้ในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน 2) การอำนวยความสะดวกให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่น การสนับสนุนบุคคลากร สถานที่ การจัดหน่วยออกเสียง และตรวจสอบทะเบียนราษฎรในส่วนของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติทั่วประเทศ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียงและแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้าน
และ 3) การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย ในการออกเสียงประชามติ และการช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และพนักงานฝ่ายปกครอง ถือเป็นผู้มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยตามกฎหมาย รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกเสียงประชามติด้วย จึงขอเน้นย้ำให้ข้าราชการในสังกัดของกระทรวงมหาดไทยทุกระดับ วางตัวให้มีความเป็นกลางและปฏิบัติตนให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด
3. การสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) โดยได้ชี้แจงถึงแนวทางการทำงานตามแนวคิดเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการจัดตั้งกิจการที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยจัดตั้ง “บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด” ขึ้นทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ โดยไม่ได้วางเป้าหมายเพื่อสร้างกำไรเพียงอย่างเดียว แต่จะนำกำไรที่ได้ไปลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ด้านการเกษตร 2. ด้านการแปรรูป SME/OTOP และ 3. ด้านการท่องเที่ยวชุมชน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานและขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน กับ คณะทำงานระดับจังหวัด และอำเภอ ให้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย
สุดท้าย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และบุคคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกระดับได้ร่วมกันทำงานเพื่อดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ และให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสำคัญในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ หรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ขอให้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องเป็นจริงอย่างรวดเร็ว และมอบหมายให้ประชาสัมพันธ์จังหวัดร่วมสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวด้วย
ข่าวเด่น