กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝน พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยติดตามพยากรณ์อากาศตลอด 24 ชั่วโมง ประสานแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างรวดเร็ว พร้อมวางระบบการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยยึดปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมแจ้งเตือนจะมีฝนตกหนัก 9 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ ปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ คาดว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝน ทำให้ หลายพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝนไว้ล่วงหน้า พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง มุ่งเน้นการเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามพยากรณ์อากาศตลอด 24 ชั่วโมง กรณีมีแนวโน้มเกิดสถานการณ์ภัยให้ประสานแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างรวดเร็ว ผ่านทุกช่องทางสื่อและเครือข่ายในพื้นที่
พร้อมวางระบบการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ สำรวจเส้นทางระบายน้ำไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงให้ทุกจังหวัดจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นศูนย์กลางในการสั่งการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ ตลอดจนดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยยึดปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างเคร่งครัด โดยประสานความร่วมมือกับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพยากรณ์อากาศพบว่า ในระยะนี้จะมีฝนตกหนักใน 9 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้าง ต้นไม้ กิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เพื่อป้องกันการล้มทับและก่อให้เกิดอันตราย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ข่าวเด่น