ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาคพ.ค.59 ฟื้นตัวได้ดีขึ้นสัญญาณปรับตัวดีจากการบริโภค


 


"เศรษฐกิจภูมิภาคฟื้นตัวได้ดีขึ้น นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ โดยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภค โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ขยายตัวได้ดีตามรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวได้ดีทุกภูมิภาค ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีทุกภูมิภาคเป็นปัจจัยหนุนสำคัญให้เศรษฐกิจภูมิภาคขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวแม้จะชะลอลงแต่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
 

นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม ปี 2559 "เศรษฐกิจภูมิภาคฟื้นตัวได้ดีขึ้น นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ  โดยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภค โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ขยายตัวได้ดีตามรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวได้ดีทุกภูมิภาค ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีทุกภูมิภาคเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ให้เศรษฐกิจภูมิภาคขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวแม้จะชะลอลงแต่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"           โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
 
ภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจ    ด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่และยอดรถยนต์นั่ง    จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.7 และ 12.5 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี โดยมีรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.4 ต่อปี เป็นปัจจัยสนับสนุน สอดคล้องกับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 10.6 และ 10.9 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจยังมีสัญญาณชะลอตัวจากการใช้จ่ายภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายหดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี อย่างไรก็ดี การลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 43.8 ต่อปี มีส่วนสำคัญช่วยสนันสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ในขณะที่ด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวหดตัวลงทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ -10.2 และ -7.8 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน 

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายขยายตัวที่ร้อยละ 14.3 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 26.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวหดตัวทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ -40.8 และ -51.9 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงาน

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 16.5 ต่อปี เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.0 ต่อปี เช่นเดียวกันกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 52.4 ต่อปี สอดคล้องกับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 40.3 และ 73.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่   ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน
 
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อปี และร้อยละ 45.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวหดตัวลงทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ -12.4 และ -4.6 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงาน

ภาคใต้ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ดังจะเห็นได้จากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 14.3 ต่อปี และร้อยละ 19.8 ต่อปี ขณะที่ด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ ที่ร้อยละ 16.0 และ 16.2 ต่อปี ตามลำดับ ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงาน

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่และยอดรถยนต์นั่ง     จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 22.9 และ 7.5 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 13.1    ต่อปี สอดคล้องกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 128.3 ต่อปี ขณะที่ด้านอุปทาน โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน
 
 

LastUpdate 29/06/2559 14:26:14 โดย : Admin

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:39 pm