กระทรวงเกษตรฯ สั่งกรมวิชาการเกษตร เฝ้าระวัง “ตั๊กแตนไผ่”ระบาด หลังสร้างความเสียหายพืชเกษตรในลาว เร่งวางแนวทางเตรียมการป้องกันล่วงหน้า ป้องกันพืชเกษตรไทยเสียหาย พร้อมติดตั้งกักดักตลอดแนวพื้นที่เสี่ยง และจับตาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการเฝ้าระวังการระบาด “ตั๊กแตนไผ่” (Yellow-spined bamboo locust) : Ceracris kiangsu ซึ่งเป็นตั๊กแตนที่สร้างความเสียหายให้แก่พืชเกษตร อาทิ พืชตระกูลไผ่ พืชตระกูลหญ้า พืชตระกูลปาล์ม ข้าว และข้าวโพด โดยขณะนี้ได้พบการระบาดที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งห่างจากไทยประมาณ 114 กม. โดยลักษณะการแพร่กระจายของตั๊กแตนไผ่ จะพบในบริเวณพื้นที่ป่าไผ่ทางตอนใต้ของจีนที่ระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเล 300 – 400 ม. จนถึง 780 ม. มีการวางไข่จำนวนมากใต้ผิวดิน ไข่ฟักในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง หรืออุณหภูมิสูงกว่า 32 C โดยตัวเต็มวัยจะอาศัยในพื้นที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น และสร้างความเสียหายได้กว้างขวางและรุนแรง ส่วนพืชที่มักกัดกินเป็นอาหาร ได้แก่ พืชกลุ่มไผ่ พืชในตระกูลหญ้า พืชตระกูลปาล์ม และพืชล้มลุกบางชนิด มีวงจรชีวิตแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะวางไข่ใต้ผิวดิน ในช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. ระยะตัวอ่อน(46-69 วัน) ในช่วงเดือน พ.ค.- ก.ค.ระยะตัวเต็มวัย(40 วัน) ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. และระยะไข่ ในช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค.
ทั้งนี้ เมื่อปี 2472 ได้มีการพบตั๊กแตนไผ่ครั้งแรก ณ มณฑล เสฉวน หูเป่ย เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และกวางตุ้ง ของจีน ซึ่งเกิดความรุนแรงการระบาด ต่อมาใน ปี 2478 – 2489 ได้ทำความเสียหายรุนแรงในไผ่ ข้าวโพด และข้าว สำหรับในประเทศไทยได้พบตั๊กแตนไผ่ เมื่อปี 2512 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ไม่มีรายงานการระบาดในไทยขณะนั้น ในปี 2557 พบการระบาด ที่แขวงหัวพัน เขตติดต่อกับเวียดนาม ขณะที่ ปี 2558 พบการระบาดเพิ่มในแขวงพงสาลี ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับจีน โดย สปป.ลาว ได้ขอความช่วยเหลือจาก FAO ให้เข้ามาช่วยควบคุมการระบาดแต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าและภูเขาสูงชัน
สำหรับ ปี 2559 ได้พบการระบาดในแขวงหลวงพระบาง โดย สปป.ลาว ได้ขอความช่วยเหลือมายังไทย โดยขอรับการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและการป้องกันกำจัดตั๊กแตนไผ่ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว
ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวถึงแนวทางการป้องกันการระบาดของตั๊กแตนไผ่ ว่า กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมแนวทางการดำเนินการป้องกันเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1. การเฝ้าระวัง โดยเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงซึ่งเป็นจังหวัดแนวชายแดน สปป.ลาว ในภูมิอากาศและพืชอาหารเหมาะสม อาทิ จังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน 2. วิธีการป้องกัน โดยการติดตั้งกักดักตลอดแนวพื้นที่เสี่ยงในพืชเป้าหมาย อาทิ ข้าวโพด ข้าวไร่ และไผ่ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างจำแนกในห้องปฏิบัติการ และ 3. ระยะเวลาดำเนินการ โดยดำเนินการในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 59 ซึ่งเป็นระยะตัวเต็มวัยของตั๊กแตนไผ่ 4. ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง 5. เตรียมการรองรับหากเกิดการแพร่ระบาด และ 6. ติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของศัตรูพืชอันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง และพยายามยับยั้งไม่ให้ตั๊กแตนไผ่เข้ามายังไทย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดที่มีความเสี่ยง เช่น จังหวัดน่าน พะเยา และเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาก หากสังเกตทิศทางจะพบว่า ตั๊กแตนไผ่จะมาตามลมที่พัดมาจากทางตะวันออกเฉียงใต้ เข้าสู่ไทย จึงต้องดำเนินการป้องกันล่วงหน้าโดยการติดตั้งกักดักตลอดแนวพื้นที่เสี่ยงในพืชเป้าหมาย ตลอดทั้งเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ รวมทั้งให้ความร่วมมือด้านข้อมูลทางวิชาการกับ FAO และ สปป.ลาว ในการป้องการระบาด โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นระยะตัวเต็มวัย ทั้งนี้ หากประชาชนพบลักษณะที่คล้ายตั๊กแตนไผ่ ขอความร่วมมือให้รีบแจ้งมายังเกษตรอำเภอในพื้นที่ ศูนย์วิจัยพืชผลของกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานอื่น ๆในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ด้วย ” นายสมชาย กล่าว
ข่าวเด่น