ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดรายการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า ถือเป็นสิทธิประชาชนทุกกลุ่มที่สามารถดำเนินการได้ การจัดรายการดังกล่าว น่าจะเป็นการส่งเสริมบรรยากาศให้เกิดมุมมองของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะได้มีมุมมองมีความเห็นที่แตกต่าง เพื่อเป็นข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ
การจัดรายการดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์ถ้าอยู่บนกรอบของเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวิจารณ์ร่างฯ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าการดำเนินการต้องอยู่ภายใต้กฎหมายประชามติ ต้องไม่เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นเท็จ อย่าเอามาพูดให้เกิดความสับสน การใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าว รุนแรง อยากให้ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดี ถกเถียงกันในเชิงเหตุและผล ส่วนเรื่องการปลุกระดมก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่อยากให้เอาชนะกันโดยการนำมวลชนออกมาสู่ท้องถนนหรือประท้วง อยากให้การทำประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เมื่อถามถึงการที่ประชาชนยังขาดความเข้าใจเนื้อหาสาระเป็นความล้มเหลวของกกต.ในการรณรงค์หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า กกต.มีหน้าที่ในการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิแต่ในส่วนของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กกต.ไม่อาจไปล้ำเส้นบทบาทดังกล่าวได้ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจะบอกว่าเป็นเพราะ กกต.ไม่ได้ โดยในการจัดเวทีชี้แจงสี่ครั้งที่ผ่านมาไม่ใช่นโยบายของกกต.แต่เป็นความประสงค์ร่วมกันของหลายฝ่าย อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังคิดว่ามีรายการที่เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติในช่องต่าง ๆ อีก 13 ครั้งน่าจะมีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญได้ และมีข้อมูลส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ง่ายที่จะเข้าใจ
นายสมชัย กล่าวด้วยนว่า การที่ประชาชนยังขาดความเข้าใจในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อการออกเสียงประชามติหรือไม่นั้น คงไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลทั้งหมดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกับในปี 2550 ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าการออกเสียงของประชาชนเกิดจากความเข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์แต่อาจจะมาจากการชี้นำก็ส่วนหนึ่ง ส่วนการเผยแพร่เนื้อหานั้นสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญเพราะสามารถจัดรายการได้ตลอดเวลาแต่ต้องถามว่าทำไมสื่อมวลชนจึงไม่ทำ ซึ่งตนเคยแนะนำให้เลือกวิทยากรที่มาจากพรรคเพื่อไทยแต่สื่อก็บอกว่าไม่กล้า ปัญหาจึงไม่อยู่ที่กกต. สำหรับระยะเวลาที่เหลือก่อนถึงวันลงประชามตินั้นตนไม่ได้ห่วงเรื่องการทุจตริต แต่ห่วงว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจในเนื้อหาสาระเพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่งเพื่อมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ
ข่าวเด่น