9 สมาคมสัตว์ปีก และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คัดค้านร่างพ.ร.บ.โรงฆ่าสัตว์ ขอให้ทบทวนใหม่ กังวล พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล ฉุดขีดความสามารถในการแข่งขันไก่ไทยลดลง สูญเสียตลาดส่งออก และสร้างความเสียหายต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่อาคารรัฐสภา นายแพทย์อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย พร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ และตัวแทน 9 สมาคมผู้ผลิตสัตว์ปีก นำโดย ประกอบด้วย นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยฯ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการส่งออก สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยฯ สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ..... เนื่องจาก (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต และทำให้ไก่ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
“การมายื่นหนังสือเพื่อคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะ 9 สมาคมฯ และเกษตรกรกังวลว่าการกำหนดค่าอากรการฆ่าและค่าธรรมเนียมฯ จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตไก่เนื้อของไทยทั้งระบบ ไม่เป็นผลดีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ GDP ของประเทศตั้งแต่ ผู้บริโภคต้องรับภาระซื้อไก่เนื้อแพงขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่แบกภาระต้นทุนการเลี้ยงเพิ่ม และที่สำคัญการส่งออกไก่เนื้อที่ทำเงินตราให้กับประเทศปีละเกือบ 100,000 ล้านบาท หากมีการเก็บอากรจะมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ไทยต้องสูญเสียตลาดส่งออกให้กับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง บราซิล สหรัฐอเมริกาและจีนได้ หากการส่งออกลดลงก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อของไทยทั้งระบบไปถึงเกษตรกรในประเทศที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพด และถั่วเหลือง เพราะปัจจุบัน 80% ของวัตถุดิบอาหารสัตว์มาจากในประเทศ” นายแพทย์อนันต์กล่าว
ด้าน ศ.พิเศษ พรเพชร กล่าวหลังจากรับหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างรธน. ซึ่งสภาฯ จะส่งหนังสือชี้แจงของ 9 สมาคมฯ ให้คณะกรรมาธิการฯ เพื่อได้พิจารณาทบทวนร่างพ.ร.บ. ต่อไป
นายแพทย์อนันต์กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกจะเดินหน้าคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์อย่างถึงที่สุด เนื่องจากการกำหนดให้จ่ายอากรการฆ่าสัตว์ปีกในอัตราตัวละ 2-4 บาทนี้จะเกิดเป็นต้นทุนการผลิตเนื้อไก่ที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไก่ไทยในตลาดโลกลดลง หากประเทศไทยต้องสูญเสียตลาดส่งออกไก่ จะส่งผลกระทบไปถึงห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อของไทยทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลือง ภาคการแปรรูป ภาคผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมถึงภาคผู้ขนส่ง และภาคการส่งออก
ในอุตสาหกรรมไก่ไทยมีผู้คนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบมากกว่า 2 ล้านคน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อการผลิตอาหารสัตว์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ซึ่งเป็นรายได้หมุนเวียนภายในประเทศ ช่วยเศรษฐกิจชาติมาโดยตลอด การเก็บอากรฯ จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไก่เพิ่มขึ้นกระทบห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ฉุดความสามารถในการแข่งขันของเนื้อไก่ไทย เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างบราซิล สหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและได้เปรียบไทยมากอยู่แล้ว โดยรัฐบาลของบราซิลนอกจากจะไม่มีการเก็บค่าอากรและค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว ยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ในทุกด้าน ทำให้บราซิลมีต้นทุนผลิตเนื้อไก่ต่ำเพียง 25 บาทต่อ กก. ขณะที่ประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตสูงถึง 34-35 บาทต่อ กก. ซึ่งนับว่าแข่งขันยากอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องขอให้ผู้บริหารประเทศช่วยพิจารณาถึงผลดีผลเสียของ ร่างพ.ร.บ.นี้อีกครั้งอย่างรอบคอบ ก่อนจะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมดาวเด่นของประเทศอุตสาหกรรมนี้ลงอย่างย่อยยับ
อนึ่ง (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ...มาตรา 42 และมาตรา 43 กำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงฆ่าสัตว์ต้องจ่ายค่าอากรการฆ่าสัตว์และจ่ายค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็นค่าอากรการฆ่าไก่ 2 บาทต่อตัวและค่าธรรมเนียมการจำหน่ายเนื้อสัตว์อีก 2 บาทต่อตัวรวมเป็น 4 บาท ผลผลิตไก่ของประเทศไทยมีจำนวนราว 1,400 ล้านตัวต่อปี คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5,600 ล้านบาท ดังนั้น สมาคมผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์จึงจำเป็นต้องยื่นคัดค้าน (ร่าง) พรบ.ดังกล่าวอย่างถึงที่สุด
ข่าวเด่น