กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เร่งสานพลังประชารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยกลไกประชารัฐ พร้อมนำ “การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่” เข้ามาใช้พัฒนาข้าวแปลงใหญ่ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ
วันนี้ (1 ก.ค 59) เวลา 10.30 น. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หัวหน้าทีมร่วมภาคเอกชน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานคณะทำงานการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ โดยจุดแรกคณะได้เยี่ยมชมพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสุขสยามคูโบต้า – ผักใหม่ (ศูนย์เครือข่าย ศพก.) ซึ่งนายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับ และผู้จัดการแปลง คือ นายประธาน พลโลหะ เกษตรอำเภอห้วยทับทัน เป็นผู้นำเสนอภาพรวมของแปลงฯ
จากนั้น นายไพทูรย์ ฝางคำ ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ฯ (ข้าว) กล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้โครงการแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ก่อนที่คณะจะลงพื้นที่เยี่ยมชมการเตรียมแปลงปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเตรียมพร้อมการปลูกข้าวในฤดูการผลิต จากนั้นในช่วงบ่าย คณะได้เดินทางต่อไปยังโรงสีไฟเจียเม้ง เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินงานแปลงใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนปัจจัยการผลิตการตลาดและการใช้เทคโนโลยีจากผู้จัดการโรงสี
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกันผลิตสินค้าทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การรวมกันผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมถึงการจำหน่าย งจะทำซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืนตามหลักการบริหารตามแนวประชารัฐ
ปัจจุบันมีจำนวนแปลงใหญ่ประชารัฐที่ได้รับรองโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดแล้ว ทั้งหมด 512 แปลง จำนวน 31 สินค้า มีพื้นที่รวมในการบริหารจัดการร่วมกัน 1.34 ล้านไร่ เกษตรกรประมาณ 85,000 ครัวเรือน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) แปลงใหญ่ประชารัฐต้นแบบจังหวัดละ 1 แปลง 76 แปลง (ยกเว้น กทม.) 2) แปลงใหญ่ทั่วไป 392 แปลง และ 3) แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ 44 แปลง โดยมีพื้นที่ 67,899.5 ไร่ เกษตรกร 5,118 ราย รวม 11 สินค้า ได้แก่ ข้าว 13 แปลง มันสำปะหลัง 3 แปลง อ้อยโรงงาน 4 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 แปลง ผัก 8 แปลง ผลไม้ 1 แปลง สมุนไพร 1 แปลง หม่อนไหม 1 แปลง กุ้งขาว 6 แปลง โคเนื้อ/โคนม 1 แปลง และปลานิล 2 แปลง
“จุดเด่นของแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ คือ จะมีการกำหนดผู้จัดการแปลงภาครัฐและผู้จัดการแปลงภาคเอกชนในลักษณะการทำงานร่วมกัน โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการบริหารจัดการของภาคเอกชนมาช่วยในการพัฒนา ตัวอย่างพื้นที่ดำเนินการ เช่น ข้าว ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ มีพื้นที่ 3,780 ไร่ สมาชิก 297 ราย บริหารงานโดยวิสาหกิจุมชนชน (ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน) สภาพพื้นที่ทำนาอยู่ในเขตความเหมาะสมปานกลางและน้อย (S2, S3) แต่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีศักยภาพและการปลูกข้าวเป็นวิถีของเกษตรกร ปัญหาการผลิตข้าวของเกษตรกร คือ มีต้นทุนการผลิตสูง จึงได้กำหนดเป้าหมายในการร่วมกันผลิตแบบแปลงใหญ่ โดยการลดต้นทุนการผลิตลง สำหรับนาดำ จาก 4,620 บาท/ไร่ เป็น 4,050 บาท/ไร่ (ต้นทุนจาก 11.55 บาท/กก. ให้เหลือ 7.36 บาท/กก.) และเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 400 กก./ไร่ เป็น 550 กก./ไร่ และ 6.57 บาท/กิโลกรัม สำหรับนาหยอด ลดต้นทุนการผลิตจาก 4,620 บาท/ไร่ เป็น 3,285 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิตข้าวจาก 400 กก./ไร่ เป็น 500 กก./ไร่ (ต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมลดลงจาก 11.55 บาท เป็น 6.57 บาท)” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ตามแนวนโยบายประชารัฐซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรของไทยนั้น สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คือ การใช้ความเชี่ยวชาญในเชิงการตลาด ความเข้าใจผู้บริโภค มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
อีกทั้งการใช้องค์ความรู้ และการจัดการเกษตรสมัยใหม่ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาครัฐ และเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะมีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่าของภาคเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง เช่น การพัฒนาคุณภาพ (Quality) มาตรฐานการผลิต (Standard) สินค้าเกษตรปลอดภัย (Safety) สามารถติดตามผลสอบย้อนกลับได้ (Traceability) กลางทาง เช่น การเพิ่มมูลค่า (Value Added) ให้กับสินค้าเกษตร และถึงปลายทางในการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่าย โดยการเชื่อมโยงความต้องการของตลาด (Market) กับผลผลิตของเกษตรกรและชุมชน ซึ่งในอนาคตจะมีการรวมกลุ่มทำการผลิต ด้วยการนำระบบการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อลดการพึ่งพิงฟ้าฝน ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวของ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ถือเป็นแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ที่ภาครัฐโดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้ดูแล มีรูปแบบกิจกรรมที่ดำเนินการ คือ 1) ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวจากวิธีทำนาหว่าน ซึ่งทำให้ผลผลิตต่ำและคุณภาพไม่ดี เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในการดูแลหันมาใช้เครื่องจักรกลในการผลิต และใช้การปลูกโดยระบบนาดำ และนาหยอด มีการบริหารเครื่องจักรกลในรูปแบบกลุ่ม(Machine Pool) โดยการสนับสนุนจากบริษัท สยามคูโบต้า จำกัด มีการก่อตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเครื่องจักรกลการเกษตร ให้การสนับสนุนความรู้ด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนราคาอะไหล่ในราคาที่ถูกกว่าตลาด 2) ปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมบูรณ์เพิ่มขึ้น โดยการปลูกพืชปุ๋ยสด อาทิ ปอเทือง ถั่วพร้า การไถกลบตอซัง 3) พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP และอินทรีย์ 4) พัฒนาด้านการตลาด โดยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับสหกรณ์การเกษตร 5) มีการบริหารความเสี่ยงโดยการส่งเสริมอาชีพเสริมรายได้เร็ว (Cash Crop) แก่สมาชิกแปลงใหญ่ เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่ว เลี้ยงโค กระบือ ไก่พื้นเมือง และปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนแบบบูรณาการตามความต้องการของพื้นที่และเกษตรกรภายใต้ภารกิจของหน่วยงานทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการเข้าร่วมการดำเนินงานแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ คือ จะได้รับการพัฒนาด้านการบริหารจัดการในการผลิต ทั้งในประเด็นของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตให้มีความเหมาสมและทันสมัย นำไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐาน ต้นทุนการผลิตเหมาะสม สามารถแข่งขันในตลาดได้ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความมั่นคงในด้านการตลาดกว่าเกษตรกรทั่วไป เพราะจะมีการเจรจาเชื่อมโยงการตลาดกับภาคเอกชน ตั้งแต่การวางแผนการผลิต ทำให้ทราบปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะนำมาสู่การวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมีการจัดซื้อผลผลิตตามคุณภาพ โดยผลผลิตในแปลงใหญ่จะมีปริมาณและคุณภาพที่ดี มีความแน่นอน ทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกัน ร่วมในการบริหารจัดการด้วยกัน นำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรที่มีพลังอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และเป็นกลุ่มองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ข่าวเด่น