นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 เผย กิจกรรมในแผนบริหารจัดการน้ำมีความก้าวหน้าของงานตามลำดับ ระบุภายในปี 2560 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศต้องมีน้ำประปาใช้ พร้อมสั่งการหาพื้นที่สร้างอุโมงค์ระบายน้ำนอกกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม
วันนี้ (1 ก.ค.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2559 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงสาระสำคัญของการประชุมว่า มีการรายงานความก้าวหน้าในกิจกรรมทุกกิจกรรมที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ โดยได้มีการเสนอแผนงานโครงการใหม่ที่ตามนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไปจากการไปตรวจเยี่ยมประชาชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งหลายเรื่องมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และมีหลายเรื่องที่ยังขาดอยู่ เช่น เรื่องการเก็บกักน้ำ ระบบการส่งน้ำที่หลายพื้นที่มีปัญหา ไม่สามารถจะทำการเก็บกักน้ำหรือส่งน้ำในพื้นที่ที่ใช้น้ำโดยตรงได้ ต้องไปทำในพื้นที่ที่ไกลออกไป เพราะมีการต่อต้าน จึงต้องหาแนวทางในการส่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งเรื่องน้ำจะต้องมีความชัดเจนทั้งเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำประปาที่จะต้องทำให้ใช้งานได้ 100% พื้นที่ใดที่ยังไม่มีน้ำประปาก็ต้องทำให้มีให้ได้ภายในปี 2560 ของเก่าที่เสียก็ต้องซ่อม
ขณะที่เรื่องน้ำอุตสาหกรรมและน้ำระบบนิเวศก็ต้องให้ความสำคัญ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำทุกหยดอย่างมีคุณค่า ทั้งในภาคการอุปโภคบริโภค หรือการเพาะปลูกพืชที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำหน้าที่หลักในการวางแผนบริหารจัดการเรื่องการเพาะปลูก ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงเรื่องการตลาด ที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และต้นทางคือกระทรวงมหาดไทยจะต้องเป็นผู้ชี้เป้าหมายความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ฉะนั้นการประชุมในวันนี้มีความก้าวหน้าของงานตามลำดับ หลายอย่างได้มีการสั่งให้ปรับเปลี่ยน จากที่ได้วางแผนงบประมาณระยะยาวไว้ถึงปี 2569 หลายจึงต้องปรับ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้ที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ อาจจะมีฝนตกมากขึ้น แต่อาจจะมีการทิ้งระยะบ้าง จึงอยากให้เกษตรกรได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องทั้งทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเจ้าหน้าที่ เพื่อเกษตรกรจะได้ปรับตัวเองให้สอดคล้อง ให้สิ่งที่ลงทุนไปไม่เกิดความเสียหายเพราะขาดน้ำ เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ผู้นำท้องถิ่น อปท. อบจ. ต้องร่วมกันปฏิรูป ให้ประชาชนทุกกลุ่มเป็นศูนย์กลาง เพราะทั้งหมดคือสิ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยในวันหน้า จะต้องเป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ เราไม่ได้ทำเพื่อวันนี้อย่างเดียว แต่ต้องทำเพื่อใน 20 ปีข้างหน้าที่จะมีคนเพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้นรายได้จะต้องมาจากหลายภาคส่วนทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมสีเขียว การท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือด้านการลงทุนสร้างความเชื่อมโยงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งทุกเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เงิน
“วันนี้หลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง วันนี้ผมได้ช่วยเต็มกำลังไปแล้ว กำลังผมมีอย่างเดียวคือกำลังจากเงินที่ได้รายได้จากภาษี ซึ่งยังคงน้อยอยู่เพราะเรายังปรับโครงสร้างได้ไม่เรียบร้อย แต่ผู้เดือดร้อนนั้นเดือดร้อนเดิมอยู่แล้ว จึงต้องเอาเงินในส่วนที่ต้องเตรียมอนาคตมาใช้กับการแก้ปัญหาที่เป็นของเดิม อยากให้สื่อช่วยกันทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องแผนการลงทุนน้ำเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมว่า ไม่ต้องมีการปรับแผนอะไร เพราะแผนการลงทุนเรื่องน้ำได้อนุมัติหลักการไปแล้ว แต่ต้องปรับให้สอดคล้องกับงบประมาณแต่ละปี ไม่ใช่อนุมัติครั้งเดียวเพราะเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณเป็นล้านล้านบาท ตัวเลขการลงทุนทั้งหมดเป็นตัวเลขโดยรวมทั้งหมดคร่าว ๆ ที่ต้องไปออกแบบนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หารือกับสำนักงบประมาณให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพราะต้องใช้งบประมาณหลายปี บางโครงการต้องใช้งบประมาณศึกษาก่อน ทำ EIA HEIA ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ที่สำคัญรัฐบาลจะต้องไม่ทำให้หนี้สาธารณะเกินจากที่กำหนด ขณะเดียวกันก็ต้องคิดหาทางว่าแผนการลงทุนทั้งหมดจะนำเงินมาจากที่ไหน ที่ผ่านมาถ้าไม่คิดก็จะไม่มีเงินเหลือทำอะไรทั้งสิ้น เพราะจะต้องใช้เงินดูแลคนยากจนด้วย จะหวังรายได้จากการส่งออกภาคการเกษตรอย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้เพราะนับวันจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ หลายประเทศเพาะปลูกเอง ลงทุนในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายต้นทุนที่ถูกที่สุด ดังนั้น เราจึงต้องปรับตัวเองก่อน สร้างแรงจูงใจ หาแนวทางทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก การสร้างความเข้าใจก็ยากแล้ว การจัดการหางบประมาณมาทำก็ยิ่งยากกว่า ระเบียบ กฎหมาย กติกาทั้งหมดต้องแก้ไขใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาเป็นการทำงานลักษณะเชิงดิ่งเป็นแท่งลงมา แต่วันนี้เป็นการทำงานในลักษณะคณะกรรมการทั้งหมด ที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปหาข้อยุติเรื่องน้ำทั้งหมด ทั้งบ่อบาดาล การขุดลอก การทำท่อระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร การป้องกันน้ำท่วม ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกรุงเทพมหานครไปทำแผนให้เร็วที่สุด แบ่งเป็นระยะ 1-2-3 ให้ดูพื้นที่สร้างอุโมงค์ระบายน้ำแห่งใหม่ออกไปนอกเมือง ขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาเดิมให้ได้ ระบายน้ำลงให้เร็ว เพิ่มเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ท่วมขัง
ข่าวเด่น