วันนี้ (1 กรกฎาคม 2559) นายสมพงษ์ พงษ์สกุลรังษี ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ลงพื้นที่จัดระเบียบสายสื่อสาร โครงการจัดระเบียบสายสื่อสารประจำปี 2559โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดนนทบุรี พร้อมทั้ง ผู้แทนจากบริษัทผู้ประกอบการสายสื่อสารรวม 12 บริษัท เข้าร่วมการจัดระเบียบ ณ บริเวณซอยงามวงศ์วาน 13 ถนนงามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี
ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในฐานะที่ กฟน. มีหน้าที่ในการดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนเพื่อสร้างระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง บริการมั่นใจ และห่วงใยสังคม จึงตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทัศนียภาพ และการป้องกันอันตรายจากปัญหาสายสื่อสาร ห้อยต่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรถเกี่ยวสายสื่อสารจนทำให้เสาไฟฟ้าล้ม ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างได้
โดยปัจจุบัน กฟน. มีแนวทางการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารโดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระหว่างการไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาสายสื่อสารได้ในพื้นที่โครงการสายใต้ดินได้ในระยะยาว นอกจากนี้ที่ผ่านมา กฟน. ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงาน กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำร่องดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่บางส่วนของ ถ.พระราม4 และ ถ.งามวงศ์วาน แล้ว
ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยอีกว่า สำหรับโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารปี 2559 กฟน. ได้พิจารณาดำเนินการเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาสายสื่อสาร ประกอบด้วย 5 เส้นทาง ได้แก่ ถนนงามวงศ์วาน ตั้งแต่ แยกแคราย - แยกเกษตร ความยาวถนน 6 กิโลเมตร ถนนสาทร ตั้งแต่แยกถนนเจริญกรุง - ถนนลุมพินี ความยาวถนน 3 กิโลเมตร ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตั้งแต่หน้าวัดสำโรง - หน้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ความยาวถนน 3.5 กิโลเมตร ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตั้งแต่แยกอุรุพงษ์ - แยกคลองตัน ความยาวถนน 9 กิโลเมตร และ ถนนศรีนครินทร์ ตั้งแต่แยก กฟน. เขตสมุทรปราการ - แยกลำสาลี ความยาวถนน 20 กิโลเมตร โดยการจัดระเบียบทั้งหมดจะใช้วิธีการติดตั้งคอนไม้ ขนาดความยาวประมาณ 1 เมตร เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุญาตจาก กสทช. และ กฟน. สามารถติดตั้งสายสื่อสารให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ กฟน. กำหนดไว้ พร้อมทั้งจัดเก็บข้อมูลลงในระบบแผนที่เพื่อการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนสายสื่อสารที่มีการลักลอบพาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมีความยาวเกินความจำเป็น และไม่ได้ใช้งานจะถูกนำออกจากเสาไฟฟ้าทันที
ทั้งนี้ เพื่อให้เสาไฟฟ้าและสายสื่อสารเป็นระเบียบ มีทัศนียภาพที่สวยงาม หากประชาชนพบเห็นบุคคลที่ขึ้นพาดสายบนเสาของการไฟฟ้านครหลวงโดยไม่มีการแสดงตัวตนที่ชัดเจน สามารถแจ้ง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวเด่น