ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รมว.แรงงานชี้ไทยหลุด 'เทียร์ 3' ส่งผลดีต่อส่งออกโดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็ง


 


นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย กล่าวถึงกรณี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเลื่อนอันดับประเทศไทยจาก “เทียร์ 3” ขึ้นเป็น “เทียร์ 2” วอตช์ลิสต์ อันบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นในความพยายามของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งมีหลายภาคส่วนที่ร่วมดำเนินการจนมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 

 
ทั้งนี้ โดยเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ นอกจากเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” แล้ว ยังมุ่งเน้นให้การดำเนินงานของไทยเป็นไปตามหลักสากล เพื่อประโยชน์ของชาติโดยรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านแรงงาน ซึ่งภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ได้มีการปรับระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งระบบ มุ่งเน้นปรับสถานะแรงงานผิดกฎหมายให้เข้าสู่การทำงานที่ถูกต้อง ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรง พร้อม ๆ กับแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ตลอดจนดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไข ทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมทั้งสหภาพยุโรป (EU) และประเด็นสำคัญ คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการแก้ปัญหาค้ามนุษย์
 

ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงกฎหมายหลายส่วนด้วยกัน อาทิ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ โดยการนำเข้าแรงงานตาม MOU ผ่านผู้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเท่านั้น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มโทษการกระทำผิดที่เกี่ยวกับแรงงานเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานทั่วไปหรือทำงานในงานเกษตรกรรม หรืออายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในงานประมงทะเล เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 โดยให้เปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด 100,000 บาทต่อคน ในการกระทำผิดในงานประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ และทั้ง 2 กิจการนี้ให้สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ด้วย
 

นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขอบคุณ ILO และ EU ที่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือทางวิชาการในการต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมทั้งนายจ้างแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน โดย ILO สนับสนุน 19.5 ล้านบาท EU สนับสนุน 144.3 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของไทย ทำให้นานาชาติสนับสนุนงบประมาณร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญนี้ พร้อมขอบคุณทุกส่วนราชการที่ร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง และจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งไทย เนื่องจากไทยดูแลเรื่องแรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งจะส่งผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อันจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อเศรษฐกิจไทย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.ค. 2559 เวลา : 16:30:10

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:47 am