ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมชลฯสั่งตรวจสอบปตร.ทุกแห่งให้พร้อมใช้งานรับมือน้ำหลาก


          

กรมชลประทาน เร่งตรวจสอบประตูระบายน้ำและอาคารชลประทาน ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รองรับการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก พร้อมแนะนำเกษตรกรในที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เริ่มการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้แล้ว

 
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ล่าสุด(28 มิ.ย. 59) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 30,885 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,460 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

           
ทั้งนี้ ตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา(ระหว่างวันที่ 22 – 28 มิ.ย. 59) เขื่อนหลายแห่งเริ่มมีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมมากขึ้น อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก 44.69 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์  51.03 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก  16.27 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 15.62 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 4.98 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น  12.99  ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 74.22 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น สถานการณ์น้ำไหลลงอ่างฯในภาพรวม ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯเริ่มมีมากขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาและไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน

 สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้ว่า 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) จะมีน้ำไหลลงอ่างฯบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกบริเวณด้านเหนือเขื่อนมีไม่มากและการกระจายของฝนยังไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ปัจจุบัน(28 มิ.ย 59) ทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,010 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 1,314 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังคงการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลต่อเนื่องเท่านั้น

ในส่วนของการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน กรมชลประทาน ได้ให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจสอบและทดลองใช้งานอาคารชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ ซึ่งจะต้องทำสัญลักษณ์ให้ชัดเจนว่าได้ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องในฤดูฝนนี้ โดยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง อาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 5 – 7 วัน ในช่วงต้นเดือนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2559 จึงขอแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา สามารถเริ่มทำการเพาะปลูกได้ โดยอาศัยน้ำจากฝนที่ตกชุก ซึ่งกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำไว้ในระบบชลประทานให้มากที่สุด เพื่อกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร และเพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนตุลาคม เป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมได้อีกทางหนึ่งด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.ค. 2559 เวลา : 17:31:21

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:37 am