วันนี้ (1 กรกฎาคม 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางแห่ง ส่งผลให้บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และสิ่งที่มักตามมาคือโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคติดเชื้อ แมลงมีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด เป็นต้น ซึ่งโรคติดเชื้อที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือโรคอุจจาระร่วงและโรคตาแดง จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงทั่วประเทศ 560,021 ราย เสียชีวิต 4 ราย ส่วนโรคตาแดง พบผู้ป่วย 59,337 ราย
โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ค้างคืน มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค โดยผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำกว่าปกติ มีไข้สูง การป้องกันโรคให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยรับประทานอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ สำหรับอาหารที่รับประทานไม่หมดต้องเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทานใหม่ แต่หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด และหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก ที่สำคัญควรปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย
สำหรับโรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ซึ่งจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีขี้ตามาก ตาบวม จะเป็นอยู่ประมาณ 5-14 วัน การป้องกันโรคนี้ ประชาชน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย อย่าให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และหากป่วยเป็นโรคตาแดง ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที และควรหยุดเรียนหรือหยุดงานรักษาตัวที่บ้าน ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในน้ำ เพราะโรคนี้อาจแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเกิดจากเชื้อราจากการที่เท้าแช่อยู่ในน้ำที่สกปรกเป็นเวลานาน หรือมีความชื้นที่เท้าอยู่ตลอดเวลา เป็นอาการทางผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง โดยเชื้อราจะทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลมและคัน หากเกา แผลจะแตกและมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้าคือ หลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำท่วมขัง ถ้าจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ท และเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังขึ้นจากน้ำ และหากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาก่อนลุกลาม
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า ภัยสุขภาพที่สำคัญอื่นๆในช่วงน้ำท่วมคือ แมลงมีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด โดยอันตรายที่เกิดจากแมลงมีพิษกัดต่อยช่วงน้ำท่วม เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ซึ่งหากไม่ระวังก็อาจถูกสัตว์เหล่านี้กัดหรือต่อยได้ การป้องกันควรตรวจสอบจุดต่างๆของบ้านหลังจากฝนตก หากพบเจอสัตว์มีพิษควรตั้งสติให้ดี และเรียกผู้ชำนาญมาช่วย หรือในกรณีที่ถูกงูกัด ควรจดจำลักษณะของงูว่าเป็นงูชนิดใดเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัด และไม่ควรขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเป็นเนื้อตาย และห้ามกรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน ที่สำคัญให้นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและโดยเร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่ถูกตะขาบ แมงป่องกัด ให้ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลน หากมีอาการปวดมากหรือมีอาการแพ้ เช่น หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์
สำหรับการถูกไฟฟ้าดูด อาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง พิการ และเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังและป้องกันตนเองโดยก่อนน้ำท่วมควรขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือที่ปลอดภัย น้ำท่วมไม่ถึง และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิทซ์ไฟโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ และหากระดับน้ำท่วมขังสูงเกินกว่าปลั๊กหรือเมนสวิทซ์อย่าเดินลุยน้ำ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อใช้เป็นทางเดินไม่ให้ร่างกายถูกน้ำ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น