กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเผยสถานการณ์ส่งออกไทยดีขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศไทยขึ้นเทียร์ 2 วอท์ช ลีสท์ ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้ซื้อทั่วโลก ส่งผลดีต่อการตรวจสอบประมงจาก IUU อียู
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report 2559 ) หรือ TIP Report 2559 ระบุว่า ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะขึ้นเป็นเทียร์ 2 วอท์ช ลิสท์ (Tier 2 Watch List) จากที่เคยถูกจัดอยู่ในระดับเทียร์ 3 ตั้งแต่ปี 2557 แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของรัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเล
“แม้ผลการจัดลำดับจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศ โดยหวังว่าไทยจะถูกปรับสถานะในลำดับที่ดีขึ้นในปีต่อๆ ไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
ทั้งนี้กรมฯ ได้ประเมินสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะสั้นผลกระทบต่อภาคการค้าไทยโดยตรงทันที ได้แก่ ภาพลักษณ์สินค้าไทยด้านแรงงานดีขึ้นทั้งในตลาดสหรัฐฯ และนานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเล เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้ารายใหญ่ และผู้บริโภคโดยทั่วไปในวงกว้างว่า รัฐบาลไทยและภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญ และร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งจะเป็นผลดีต่อการตรวจสอบเรื่องการประมงผิดกฎหมาย (IUU) จากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งปัจจุบันไทยได้ใบเหลืองอยู่
สำหรับระยะยาว ไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกและการแข่งขันที่เข้มแข็งขึ้น สินค้าไทยได้รับการยอมรับว่า สามารถควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายสากลมากยิ่งขึ้นแล้ว จะสามารถลดการกีดกันทางการค้าและลดการโจมตีจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้ อีกทั้งยังเกิดผลดีทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการค้าปลีกในการสนับสนุนสินค้าและบริการของไทย ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประมง น้ำตาล อ้อย และสิ่งทอ
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยส่งออกสินค้าอาหารทะเล แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เป็นมูลค่า 1,532 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.4 คิดเป็นสัดส่วน 1.76 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ในขณะที่สินค้ากุ้งซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีการใช้แรงงานบังคับในการจับปลาป่น ซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารกุ้งนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้มีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการเตรียมความพร้อมต่อกฎระเบียบใหม่เรื่อง Traceability ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะบังคับใช้ โดยในปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งเป็นมูลค่า 574 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.9 เป็นสัดส่วน 0.6 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย มีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักด้วยสัดส่วนร้อยละ 41 ในปีนี้มีแนวโน้มดี เนื่องจากปัญหาโรค EMS ผ่อนคลาย
ในด้านของสถานะของประเทศคู่แข่งนั้น แม้อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเอควาดอร์ อยู่ในอันดับเทียร์ 2 แต่ต่างประสบปัญหาโรคกุ้ง (EMS) และสินค้าได้รับการตรวจสอบเข้มงวดจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (US FDA) เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ขณะเดียวกันเวียดนามก็ประสบปัญหาปริมาณกุ้งลดลงในปีนี้ อินโดนีเซียยังคงเป็นคู่แข่งที่สำคัญ แต่เสียเปรียบไทยในด้านราคาจำหน่ายที่เฉลี่ยสูงกว่าไทย ในขณะที่มาเลเซียมีปัญหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน เพื่อปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ จนเกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในทุกมิติ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย การทลายเครือข่ายผู้กระทำผิดค้ามนุษย์รายสำคัญ การจับกุมดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด การแก้ไขและจัดระเบียบแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและการดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย เป็นต้น
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเร่งชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้นำเข้ารายใหญ่สหรัฐฯ ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย พร้อมกับตรวจสอบสถานการณ์และผลกระทบของกรณีดังกล่าวต่อภาพลักษณ์สินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา 5 สำนักงาน ซึ่งผู้นำเข้ารายใหญ่ส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงความตั้งใจจริงของฝ่ายไทย และยินดีที่จะประกอบธุรกิจต่อเนื่องและยังคงสั่งซื้อสินค้าไทยมาโดยตลอด แม้ว่าไทยจะอยู่ใน Tier 3 ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้าไทยโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารทะเลมีคุณภาพสูง
อนึ่ง Tier 2 Watch List คล้ายกับ Tier 2 (คือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐฯ แต่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไข) แต่เพิ่มเติมที่มีจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า รัฐบาลเพิ่มความพยายามดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์
ข่าวเด่น