ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์ให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เริ่ม 4ก.ค.เป็นต้นไป


 

‘พาณิชย์’ ผนึกพลังประชารัฐพร้อมให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป  คาดปีแรกจะมีผู้ประกอบธุรกิจSMEs และกลุ่ม Startup ใช้ประโยชน์กว่า 3 แสนราย

 
กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมแล้วที่จะให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่วันนี้!! (4 กรกฎาคม 2559) คาดการณ์มี SMEs และกลุ่ม Startup รอใช้บริการแล้วกว่า 3 แสนราย เชื่อ!! กฎหมายใหม่ฉบับนี้จะช่วยปลดล็อคข้อจำกัดทางการเงินทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ง่ายขึ้น อันดับความง่ายในการทำธุรกิจของ World Bank  ก็จะดีขึ้น และช่วย      ‘ปลุกพลัง’ นักธุรกิจฐานราก สร้างเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างเข้มแข็ง
 
            
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (4 ก.ค.59) กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเริ่มให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจเป็นวันแรก นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของธุรกิจไทยที่จะสามารถเข้าถึงเงินทุนจากสถาบันการเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเงินทุนในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต โดยที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมความพร้อมในการให้บริการรับจดทะเบียน แก้ไข และยกเลิกการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลการจดทะเบียนฯ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 พร้อมทั้งประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงการคลัง ในการร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย ประกอบกับหน่วยงานทรัพย์ที่มีทะเบียน อาทิ กรมที่ดิน และกรมการขนส่งเพื่อกำหนดแนวทางการแจ้งข้อมูลต่อกรมฯ และสมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกำหนดวิธีการจดทะเบียน รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
 
            
สำหรับหน้าที่สำคัญของกรมฯ เกี่ยวกับการให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจมี 5 ด้านคือ       1) การจัดทำโครงสร้างองค์กรและเตรียมพร้อมบุคคลากร รองรับการจัดตั้งกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นภารกิจใหม่ของกรมฯ 2) การออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 13 ฉบับ เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน เช่น กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนและให้ประชาชนตรวจดูข้อมูล 3) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากระบบการจดทะเบียนฯ ทุกกระบวนการจะเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด  (e-Secured)  สถาบันการเงินจึงสามารถยื่นคำขอต่อกรมฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลการจดทะเบียนได้แบบ Real Time ทั้งนี้ ช่วงเวลาการจดทะเบียนฯ จะมีผลต่อลำดับการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มาขอสินเชื่อในแต่ละสถาบันการเงิน 4) สร้างผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งเป็นวิชาชีพใหม่ในวงการธุรกิจไทย โดยกรมฯ ได้ออกประกาศกระทรวงเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับใบการอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน และจัดทำหลักสูตรการอบรม ขณะนี้ได้ดำเนินการอบรมไปแล้วจำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 100 ราย และ 5) สร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อชี้แนะช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแห่งใหม่
 
            
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า “จากนี้ไปกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล และคาดว่าสถาบันการเงินจะทยอยนำ SMEs และกลุ่ม Startup เข้ามาสู่ระบบการจดทะเบียนฯ กว่า 3 แสนราย ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงคือ ‘ผู้ประกอบการ SMEs’ ที่เข้าถึงเงินทุนได้โดยตรงเพื่อต่อยอดการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า รวมถึงยังสามารถนำทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันอันประกอบไปด้วย กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจได้ต่อเนื่องจนเกิดสภาพคล่องทางธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ‘สถาบันการเงิน’ ยังสามารถขยายสินเชื่อให้ SMEs และกลุ่ม Startup ได้มากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลงเพราะลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากกฎหมายฯ มีรูปแบบการดำเนินงานที่รวดเร็วเป็นธรรม ท้ายที่สุดผลประโยชน์ทั้งหมดนี้จะตกอยู่ที่เศรษฐกิจไทยที่จะเติบโตขึ้น อีกทั้งส่งผลกระทบเชิงบวกในสายของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ง่ายขึ้นทัดเทียมกับนานาชาติ และการจัดอันดับด้านการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (World Bank) ก็จะดีขึ้นตามมาในอนาคตอันใกล้นี้
 
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า          การเข้าถึงสินเชื่อเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับธุรกิจ เมื่อมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอก็จะส่งผลดีต่อกระบวนการผลิต เพิ่มการจ้างงาน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว การที่ไทยมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะทำให้ต่างชาติมองว่าไทยมีความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เมื่อกฎหมายฯ ฉบับนี้ได้บังคับใช้แล้วก็จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและอันดับ Ease of Doing Business ก็จะดีขึ้น โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) ที่ในปี 2016 นี้ ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 49
 
 
 
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง มีนโยบายมุ่งส่งเสริมการประกอบธุรกิจมาตลอด รวมถึงการผลักดันให้มีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจซึ่งกระทรวงฯ อยู่ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกำหนดให้บุคคลทั้งหมด 6 ประเภท สามารถเข้ามาเป็น ‘ผู้รับหลักประกัน’ ตามกฎหมายได้ประกอบด้วย 1) นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ 2) ทรัสตีในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน 3) บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้ถือหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ และ 6) ผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่ง สำหรับแนวทางการกำหนดประเภททรัพย์สินที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังที่จะกำหนดประเภททรัพย์สินอื่นต่อไป
 
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะเป็น  ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น เพราะมีทางเลือกสำหรับการนำหลักประกันที่จะมาใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่ง SMEs ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากกฎหมายฉบับนี้มี 2 กลุ่มคือ ‘ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ (Startup)’ โดยส่วนใหญ่จะไม่มีที่ดินและ        สิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน และ ‘กลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังจะขยายธุรกิจ’ มักจะประสบปัญหาหลักประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อเพิ่ม อย่างไรก็ดีในวันนี้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีความพร้อมทั้ง     เรื่องระบบ กระบวนการทำงานและบุคลากรเพื่อรองรับการจดทะเบียนผ่านระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมถึงได้กำหนดนโยบายการให้สินเชื่อและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วย
 
 

'กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้เพิ่มความชัดเจนของฉบับที่ผ่านมา เชื่อว่าเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น มีจำนวนผู้ประกอบการมาใช้บริการในระบบเพิ่มขึ้น และจำนวนเงินในการขอกู้อาจมีมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธุรกิจของตัวผู้ประกอบการเอง และเศรษฐกิจของคู่ค้าหรือของโลก ทั้งนี้ การใช้กฎหมายฉบับใหม่เป้าหมายไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เพียงแต่มีสิ่งใหม่ๆที่ง่ายและสะดวกต่อผู้ประกอบการ เรียกได้ว่าปรับเปลี่ยนจากเดิมเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด
 
 
 

LastUpdate 04/07/2559 19:55:15 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:15 am