หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันและแนวโน้มประจำสัปดาห์ 4 - 8 ก.ค. 59 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 46 – 51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 46 – 51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (4 - 8 ก.ค. 59)
- ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดัน จากแรงซื้อขายที่เบาบางลงในช่วงวันชาติของอเมริกาวันที่ 4 ก.ค. รวมถึงอุปทานน้ำมันดิบจากไนจีเรียและแคนาดาที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงมากขึ้น หลังข้อตกลงเพื่อหยุดพักรบและสงบศึกชั่วคราวกับกลุ่ม Niger Delta Avengers (NDA) เป็นเวลา 30 วัน ส่งผลให้รัฐบาลสามารถทำการซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันดิบได้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ อาทิ Permian และ Bakken เริ่มกลับมาเพิ่มปริมาณแท่นขุดเจาะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจาก ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงต่อเนื่องกว่า 6 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน และ การประท้วงในนอร์เวย์ของกลุ่มสหภาพแรงงาน ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของประเทศ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นแถวระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหลุมน้ำมันที่ขุดไว้แล้ว (Drilled but Uncompleted หรือ DUC ) เนื่องจากผู้ผลิตบางรายเริ่มคุ้มทุนที่จะกลับมาดำเนินการผลิตใหม่ นอกจากนี้ ผู้ผลิตน้ำมันดิบ Shale Oil รายใหญ่ๆ ก็เตรียมเพิ่มปริมาณการขุดเจาะในเร็วนี้ โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่มีต้นทุนต่ำอย่าง Permian และ Bakken ในสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 6 แท่น
- จับตาสถานการณ์ผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย หลังปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่ราว 1.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.8 – 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังล่าสุดรัฐบาลไนจีเรียออกมาประกาศว่าทางรัฐบาลสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อหยุดพักรบและสงบศึกชั่วคราวกับกลุ่ม Niger Delta Avengers (NDA) เป็นเวลา 30 วัน ทำให้บริษัทน้ำมันสามารถซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันดิบและส่งผลให้ปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้น โดยทางรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไปสู่ระดับปกติได้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้
- จับตาการประท้วงของสหภาพแรงงานของนอร์เวย์ที่ไม่พอใจเรื่องการปรับค่าแรงในช่วงที่ผ่านมา โดยแรงงานราว 750 คนที่ปฎิบัติการในแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทั้งสิ้น 7 หลุม ประกาศเดินหน้าประท้วงและหยุดการผลิต ซึ่งหากไม่สามารถเจรจาประเด็นดังกล่าวได้ภายในวันที่ 1 ก.ค. จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบหายไปทั้งสิ้นประมาณ 285,000 บาร์เรลต่อวัน หรือร้อยละ 18 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศ
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 24 มิ.ย. ปรับลดลง 4 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่หกติดต่อกัน สู่ระดับ 526.6 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 64.2 ล้านบาร์เรล
- จับตาสถานการณ์ในประเทศอังกฤษ หลังจำนวนชาวอังกฤษที่ต้องการให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปมีมากกว่าจำนวนชาวอังกฤษที่ต้องการให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรป โดยประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลต่อตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปจะเรียกร้องให้อังกฤษประกาศเจตน์จำนงอย่างเป็นทางการในการถอนตัวออกจาก EU ด้วยการใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน แต่ นาย เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอังกฤษ ประกาศว่าจะยังคงไม่ประกาศใช้มาตรา 50 จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.ย.
- ตลาดยังคงกังวลต่อผลกระทบของการลงประชามติให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป(Brexit) ขณะที่ผลการลงประชามติดังกล่าว กดดันให้นักลงทุนเทขายเงินปอนด์สเตอร์ลิงและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อโยกย้ายเงินลงทุนไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3เดือนครึ่ง และถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน ดัชนีภาคบริการจีน ยอดค้าปลีกจีน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 - 8 ก.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 48.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.94 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 50.35 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 47 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์ประท้วงของสหภาพแรงงานของนอร์เวย์ที่ปฎิบัติการในแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หลังจากสหราชอาณาจักรลงมติขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นอกจากนี้ Brexit ยังส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง และส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น