ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.)กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงการตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติทั่วประเทศว่า เป็นศูนย์ที่ดูแลการออกเสียงประชามติ ซึ่งมี 2 ระดับ คือระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอดูแลตามลำดับ โดยคณะทำงานคือข้าราชการทั้งหมดในส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย คือตำรวจ ภารกิจหลักคืออำนวยความสะดวกในการออกเสียงอย่างที่เคยทำมาทุกครั้ง เช่น การจัดทำบัญชีรายชื่อซึ่งทำเป็นปกติ อีกส่วนก็คือ ดูแลความสงบเรียบร้อยในทุกเรื่องที่จะทำให้การลงประชามติเป็นไปโดยเรียบร้อย
การตั้งศูนย์ครั้งนี้ไม่เหมือนกับแนวคิดของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แต่เป็นการจัดตั้งตามปกติ ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปทุกระดับก็จัดลักษณะเช่นนี้ ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ในการดำเนินการให้การลงประชามติในครั้งนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย เช่น การลงบัญชีรายชื่อ การเตรียมการอื่นๆที่เกี่ยวข้องทางธุรการ ฯ อีกส่วนก็คือรักษาความสงบเรียบร้อย โดยการให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญและประชามติ ก่อนหน้านี้ ได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นตัวกำหนด แต่ศูนย์ฯนี้เป็นการอำนวยความสะดวก เช่น การเลือกตั้ง
เมื่อถามว่าต้องเชิญฝ่ายการเมืองเข้าสังเกตการณ์เหมือนการเลือกตั้งทั่วไปหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มี ไม่ได้เชิญ ส่วนที่หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างนั้น ไม่ต้องกลัว เพราะไม่ได้ปิดกั้น เจ้าหน้าที่จัดการดำเนินการดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเตรียมการได้ทัน และจะมีการเตรียมการในวันที่ 15 กรกฎาคม โดยก็จะประชุมผู้ว่าฯ ให้ซักถามการดำเนินการของศูนย์ฯ
เมื่อถามว่าจะมีครหาว่าฝ่ายรัฐทำเองทั้งหมดหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มี เจ้าหน้าที่ทำแบบนั้นไม่ได้ ผู้ว่าฯก็สั่งไม่ได้ ต้องทำไปตามกฎหมายคงไม่มีใครไปหาเรื่องที่จะต้องผิดกฎหมาย ไม่มีใครไปสั่งได้ในจังหวัดว่าใครเป็นใคร มีจุดเดียวที่ยืนได้และไม่มีใครว่าได้ คืออยู่ด้วยความเที่ยงธรรม ตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น ตนยืนยันไม่มีผู้ว่าฯ นายอำเภอคนไหนจะสั่งได้ทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ที่จะจัดการดูแลความสงบเรียบร้อย แต่การดำเนินงานของ กกต.ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง
ข่าวเด่น