ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปภ.ประสาน 25 จ.ภาคเหนือและอีสาน รับมือฝนตกหนัก 5-7 ก.ค.นี้


 


นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ได้ประสาน 25 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักถึงหนักมาก จากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2559 อาจทำให้เกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นได้
          
จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในช่วงวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2559 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อน พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 25 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ 
          
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี และบึงกาฬ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจากภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง 
          
นอกจากนี้ ได้จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงอาสาสมัคร พร้อมตรวจสอบท่อและทางระบายน้ำในเขตเมืองมิให้มีสิ่งของหรือวัสดุอุดตัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ตรวจสอบความแข็งแรงของป้ายโฆษณา สิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ขนาดใหญ่ พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในสภาพปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง 
          
ส่วนกรณีที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพที่จะรับมือได้ ให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบทันที เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว 

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ค. 2559 เวลา : 13:40:00

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:22 am