ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กสทช. รับฟังความคิดเห็นการตั้งเสาและติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า


 


นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร  รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ (7 ก.ค. 2559) สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการประชุมหารือกลุ่มย่อย (Focus Group) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลังจากกฎหมายฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี
 

นายก่อกิจ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. พบว่า ปัจจุบันการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ได้พาดสายต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชน และนอกจากสายสื่อสารจะรกรุงรังมีผลต่อทัศนียภาพแล้ว ยังพบปัญหาสายสื่อสารบางส่วนไม่ได้ใช้งาน และไม่มีการรื้อถอน ขณะนี้จึงมีความจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน เช่น การใช้พื้นที่ใดบนสะพาน ในอุโมงค์ หรือบนทางเท้า รวมถึงการใช้พื้นที่ในการสร้างโครงข่ายใต้ดินและการใช้พื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน โดยสำนักงาน กสทช. จะออกกฏเกณฑ์กำกับราคาการเช่าพื้นที่ติดตั้งสายสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ทัศนียภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ออกมาสวยงาม
 

สำหรับการประชุมหารือกลุ่มย่อยนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 2 และ 3 หน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้หลักเกณฑ์มีเนื้อหาครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตลอดจนแนวทางการกำกับดูแลให้มีบทลงโทษที่ชัดเจน

ทั้งนี้ หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามภายใต้บังคับแห่งมาตรา 39 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2554 ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดระเบียบหรือบริหารจัดการเกี่ยวกับการเดินสายมิให้รกรุงรังทั้งสายที่ใช้งานและไม่ได้ใช้งาน ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดและจัดทำแผนปฏิบัติการในการตรวจสอบ แก้ไขการเดินสายที่ไม่เรียบร้อยให้เป็นไปตามมาตรฐานและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตรายใดดำเนินการฝ่าฝืนข้อใดข้อหนึ่งตามประกาศนี้ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม
 
 
 

LastUpdate 07/07/2559 14:45:29 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:48 am