ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมบัญชีกลางเผย9เดือน ปีงบประมาณ 59 เบิกจ่ายสูงกว่าปีก่อน 2.99%


 


กรมบัญชีกลางเผยผลการรับเงินสด เข้าบัญชีเงินคงคลัง ช่วง 9 เดือน ปีงบประมาณ 59 สูงถึง 2,335,539 ล้านบาท  และแจงผลการเบิกจ่ายในภาพรวมสิ้นไตรมาส 3 เบิกจ่ายได้สูงถึง 2.03 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 1.99% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.99% ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือน (ต.ค.58 – มิ.ย.59) กรมบัญชีกลางมีเงินสดรับเข้าเงินคงคลังผ่านระบบ GFMIS  (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ค. 59) สูงถึง 2,335,539 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 213,569 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.06 และในเดือนมิถุนายน 2559 มีเงินสดรับ จำนวน 396,455 ล้านบาท แบ่งเป็น การนำส่งรายได้ของส่วนราชการ 365,667 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการนำส่งรายได้ภาษีของกรมจัดเก็บ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล 148,786 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 46,373 ล้านบาท ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 38,163 ล้านบาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 26,254 ล้านบาท และภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 13,984 ล้านบาท เป็นต้น
 
ในส่วนของการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 2,955 ล้านบาท และการนำเงินนอกงบประมาณฝากคลัง 27,833 ล้านบาท ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2559 มีเงินสดรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการนำส่งรายได้ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่ำกว่าปีก่อน และการนำส่งรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าต่ำกว่าปีก่อน เพราะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง

สำหรับผลการเบิกจ่ายเงินสิ้นไตรมาสที่ 3 ของงบประมาณประจำปี 2559 (1 ต.ค.58 – 30 มิ.ย.59) เบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม 2,039,806 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,720,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 74.99 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.99 (เป้าหมายร้อยละ 73) และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.99 (ปีก่อนเบิกจ่ายร้อยละ 72.0) แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 1,775,170 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,175,646 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.59 ขณะที่รายจ่ายลงทุน (ไม่รวมงบกลาง) เบิกจ่ายแล้ว 263,471 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 457,096 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 57.64 โดยการเบิกจ่ายเงินประมาณของภาครัฐในภาพรวมเบิกจ่ายได้สูงขึ้นเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ส่วนราชการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ขณะที่ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว 10,791 ล้านบาท ของวงเงินประมาณ 56,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.27 ซึ่งแบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 10,727 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26.16 และรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 64 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.43 ส่วนผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ของปีงบประมาณ 2549-2558 เบิกจ่ายได้แล้ว 198,420 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 307,851 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64.45

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามโครงการรัฐบาลที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 32,466 ล้านบาท ของวงเงินรวม 36,462 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 89.04 ซึ่งได้มีการทยอยเบิกจ่ายเงินอย่างต่อเนื่อง 2.มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ เบิกจ่ายได้แล้ว 33,899 ล้านบาท ของวงเงินรวม 37,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 89.68  3.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน เบิกจ่ายได้แล้ว 45,013 ล้านบาท ของวงเงินรวม 60,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 75.02 ส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้น ผ่านการจ้างงานและการบริโภคของประชาชน และ 4.โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 15,000 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 14,909 ล้านบาท ของวงเงินรวม 14,918 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99.94 ซึ่งเป็นเงินที่เบิกไปพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกภูมิภาคของประเทศ และในส่วนของผลการเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ) เบิกจ่ายได้แล้ว 87,596 ล้านบาท ของวงเงินรวม 286,282 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 30.60

"ในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้เร่งรัดให้ส่วนราชการเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2559 เพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวได้ตามเป้าหมายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน" นายมนัส กล่าว





 

บันทึกโดย : วันที่ : 08 ก.ค. 2559 เวลา : 10:17:45

03-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 3, 2025, 2:15 am