ที่รัฐสภา วันนี้ (8ก.ค.)มีการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจ การแผ่นดิน (นายเรวัต วิศรุตเวช) เพื่อคัดเลือกตำแหน่งประธาน และตำแหน่งอื่นๆ รวมถึงการวางกรอบเวลาในการตรวจสอบ หลังจากได้นัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถประชุมได้ โดยที่ประชุมเลือก พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธานฯ และพล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ เป็นโฆษกฯ
หลังการประชุม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวปฏิเสธถึงกรณีที่มีการล็อบบี้กรรมาธิการไม่ให้ประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ตามที่นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา สมาชิกสนช. ระบุในที่ประชุมสนช. แต่ยอมรับว่ากรรมาธิการหลายคนติดภารกิจ รวมถึงตนก็เช่นกัน แต่ไม่เกี่ยวกับการล็อบบี้ตำแหน่งประธาน ส่วนการตรวจสอบประวัติฯก็คงต้องนำรายงานการตรวจสอบชุดเดิมที่มีพล.อ.อู้ด เบื้องบน สมาชิกสนช.เป็นประธาน มาประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ ภายหลังที่ประชุม สนช.ได้ลงมติเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.59 ไม่เห็นชอบนายเรวัต วิศรุตเวช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เปิดรับสมัครใหม่ ซึ่งมีผู้สมัครรวมกันทั้งหมด 21 คน หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค. คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกอบด้วย 1.วีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานกรรมการสรรหา 2.นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3.นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร 5.พล.ท.ศิลปชัย สรภักดี ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และ 6.นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ ตัวแทนจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก ได้ทำการสรรหา ซึ่งเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างนายเรวัต และศาสตราจารย์เสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาดังกล่าวลงมติถึง 30 รอบ มีการพักประชุมกัน 3 ครั้ง สร้างความแปลกใจ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกสนช.กันมากว่าเหตุใดจึงต้องผลักดันชื่อเดิม ทั้งที่มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ มีความรู้ ความสามารถ และมีชื่อเสียงทั้ง 21 คน
ข่าวเด่น