นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 23/2559 วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ กรณีการออกอากาศละคร Club Friday To Be Continued ตอน เพื่อนรักเพื่อนร้าย ทางช่องรายการ GMM 25 มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ละครเรื่องนี้ได้ออกอากาศและจบไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ออกอากาศทุกวันจันทร์ – อังคาร เวลาประมาณ 20.00 – 21.15 น. และมีการนำมาออนแอร์ซ้ำ(Rerun) ในเวลาอื่นๆ ซึ่งบางฉากของเรื่องนี้ได้มีประชาชนรณรงค์เนื่องจากมีฉากที่แสดงถึงความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ นำเสนอภาพลักษณ์ที่ขัดต่อศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเสนอฉากข่มขืน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาประชาชนได้มีการพยายามรณรงค์เรื่องการข่มขืนในสื่อและลดการใช้ความรุนแรง
ละครเรื่องนี้ได้มีการจัดประเภทรายการเป็น “ท" ที่สามารถรับชมได้ทุกวัยอีกด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหาได้เสนอให้ กสท.พิจารณาโทษทางปกครองในฉากที่มีการข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรี และฉากที่นำใบหน้าของผู้หญิงไปแนบท่อรถจักรยานยนต์จนทำให้หน้าเสียโฉม อันอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามมาตรา 37 แห่ง พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
รวมทั้งเห็นว่า บริษัทจีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ในฐานะผู้รับใบอนุญาตช่องดิจิตอลทีวี ช่อง GMM 25 ควรปรับเปลี่ยนการจัดระดับความเหมาะสมของละครจาก ท(รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย) เป็นระดับ น18 (รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปี ผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 18 ปีควรได้รับคำแนะนำ) และหากจะนำละครมารีรันซ้ำให้ตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออกด้วย
“ฉากข่มขืนในละคร ได้รับการร้องเรียนมาต่อเนื่อง ที่ผ่านมา กสท. ใช้หลักการให้ช่องกำกับตนเอง แต่ดูเหมือนบางช่องกลับเน้นเพิ่มความรุนแรง ทำให้ตอกย้ำวัฒนธรรมการข่มขืนว่าเป็นเรื่องปรกติในสังคมไทย ส่งผลกระทบเชิงลึกในวิธีคิด ทางอนุกรรมการด้านเนื้อหาฯ จึงเสนอ กสท. ให้พิจารณาบทลงโทษ เพื่อยกระดับจากการเตือนเป็นการปรับทางปกครอง เพื่อกระตุ้นมาตรฐานใหม่ของวงการละครไทยด้วย" นางสาวสุภิญญากล่าว
นอกจากนี้ ประชุมจะมีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบพบการออกอากาศบางรายการมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ได้แก่ รายการ Tonight Thailand ทางช่องรายการ Voice TV เมื่อวันพุธที่ 25 พ.ค. 59 มีเนื้อหาที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/57 และฉบับที่ 103/57 อีกทั้งเป็นการขัดต่อบันทึกข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกับสำนักงาน กสทช.
ส่วนกรณีช่อง Peace Tv สำนักงานได้เสนอ 2 แนวทาง ภายหลังการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ได้แก่ แนวทาง 1 ยืนยันคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตช่องพีซทีวี เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจการกำกับดูแลและกำหนดโทษทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อพบว่าการออกอากาศมีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายและเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งคำสั่งทางปกครองของ กสท.จะมีผลบังคับใช้โดยทันทีที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และแนวทางที่ 2 คือยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 1163/58 เพื่อขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรต่อไป ซึ่งทั้งสองแนวทางหากบริษัทฯไม่พอใจสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ขอทบทวน หรือขอคุ้มครองที่ศาลปกครองได้
“ส่วนตัวเห็นว่า กสท. ควรใช้การกำกับดูแลตามกฎหมายปรกติ แทนการอ้างอำนาจพิเศษ ที่อาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ คงต้องรอฟังว่า กสท. เสียงข้างมากจะมีท่าทีอย่างไร หลังจากการพิจารณาของศาลปกครองล่าสุดนี้ ส่วนตัวในฐานะเสียงข้างน้อยคงยืนหลักการเดิม และเสนอว่า ถ้าจะจัดระเบียบช่องทีวีเชิงการเมือง ก็ควรทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน และหาจุดสมดุลย์ระหว่างการใช้เสรีภาพ และ ความรับผิดชอบ" นางสาวสุภิญญากล่าว
วาระอื่นๆ น่าจับตา ได้แก่ วาระการดำเนินการแก้ไขประเด็นที่มีผู้ได้รับใบอนุญาตในหมวดหมู่ความคมชัดปกติ(SD)แต่ทำการออกอากาศผ่านโครงข่ายอื่นแบบความคมชัดสูง(HD) วาระการขอให้พิจารณาการแก้ไขปัญหา และเยียวยาความเสียหายของช่องทีวีดิจิตอล วาระแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก วาระรายงานการดำเนินการของคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล วาระเรื่องร้องเรียนรายการ “ห้องลับมาก" ทางช่อง Bright TV ออกอากาศในช่วงเวลาที่อาจไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน วาระการพิจารณาให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริงของ ช่องMaya Channel ช่องออนซอน ทีวี ช่องมีคุณ ทีวี เป็นต้น
ข่าวเด่น