นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีด้วย โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย กรอบการดำเนินงานย่อยทั้งหมด 4 ช่วง (ช่วงละ 5ปี) คือ ช่วงที่ 1 (พ.ศ.2561-2565) มีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็น “Productive Manpower” คือ
เป็นกำลังคนที่มีประสิทธิภาพผ่านการสร้างระบบและรากฐานการดำเนินงานด้านแรงงานที่มีความยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากล และมุ่งเน้นที่จะขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ด้านแรงงานให้หมดสิ้นไป ไม่ว่าจะเป็นสิทธิความไม่เท่าเทียม สภาพการทำงาน และกรอบกฎหมายที่ล้าสมัย รวมถึงเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานทั้งด้านความรู้ ทักษะฝีมือ และทัศนคติ เพื่อให้แรงงานมีความพร้อมต่อความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การจ้างงานแบบไร้พรมแดน สังคมพหุวัฒนธรรม การทำงานในยุคดิจิตัล และพร้อมที่จะรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไป ในช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังแรงงานที่มีนวัตกรรม หรือ “Innovative Workforce” เพื่อให้แรงงานมีผลิตภาพที่สูงขึ้นและเป็นพลเมืองของโลก (Global citizen) สอดคล้องกับรูปแบบของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เป็น New Engine of Growth เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างประเทศไทย 4.0
นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุจะต้องเป็นรูปธรรมและครบวงจร ครอบคลุมทั้งเรื่องตำแหน่งงานสภาพแวดล้อมการทำงาน และสวัสดิการ สำหรับช่วงที่ 3 (พ.ศ. 2571-2575) กำลังแรงงานจะต้องเป็นกำลังแรงงานที่มีความติดสร้างสรรค์หรือ “Creative Workforce” มีทักษะ R&D ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การทำงาน และแรงงานไทยทุกคนจะต้องมีงานทำที่มีคุณค่าสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องงานที่มีคุณค่า (decent work for all) ของสหประชาชาติ และช่วงที่ 4 (พ.ศ. 2576-2580) กำลังแรงงานของไทยจะต้องเรียกได้ว่าเป็น “Brainpower” เพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือ ใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางเพื่อให้ยุทธศาสตร์ฯนี้สามารถสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยกระบวนการต่อไปจะได้เชิญทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าฯลฯ ได้มาร่วมระดมความคิดเห็นกันอีกครั้งเพื่อนำไปปรับปรุงให้การพัฒนากำลังคนของประเทศสามารถบูรณาการทำงานร่วมกันสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป นอกจากนั้นยังได้เน้นย้ำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานให้ตระหนักถึงความสำคัญ ความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนเอง และมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติงานราชการโดยใช้กลไก"ประชารัฐ"เพื่อผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติตามแผนปฏิรูปของกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศด้วย
ข่าวเด่น