วันนี้(11 ก.ค.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 4/2559 เพื่อติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนครอบคลุม 5 ประเด็น ทั้งเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว การออกใบอนุญาตขับขี่ การป้องกันอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงกำหนดแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2559
รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะเข้าสู่วันหยุดยาวในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา คาดว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว และทำบุญทางศาสนา จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ นายกรัฐมนตรีห่วงใยความปลอดภัย ในการเดินทางของประชาชน จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ปี พ.ศ.2559 ที่มุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องกัน เฝ้าระวัง ลดปัจจัยเสี่ยง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้กระทำผิด ซึ่งจะได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการจัดตั้ง “ด่านชุมชน" ในพื้นที่จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร โดยเฉพาะเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนรณรงค์การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย พร้อมจัดกิจกรรมการสวดมนต์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
ศปถ.ได้ผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2560 ใน 5 ประเด็น ดังนี้ 1. เมาแล้วขับ กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดในกลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่บรรลุนิติภาวะ และผู้มีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว เพิ่มบทลงโทษ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้กระทำความผิดซ้ำ โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 2. ขับรถเร็ว เสนอปรับลดความเร็วในเขตเมืองให้เหมาะสม และเพิ่มโทษผู้กระทำผิด โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม และกระทรวง มหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 3. การออกใบอนุญาตขับขี่ เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่ ตามมาตรการ “ออกยาก ยึดง่าย" และเพิ่มโทษเป็นโทษทางอาญาสำหรับผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาต โดยมีกรมการขนส่งทางบก เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
4.การป้องกันอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ต้องมีการรายงานตรวจสอบสภาพรถในการเสนอขอใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พร้อมปรับปรุงระบบการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีกรมการขนส่งทางบก คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และ 5.การคาดเข็มขัดนิรภัย โดยให้ผู้โดยสารด้านหลังของรถโดยสารส่วนบุคคลต้องคาดเข็มขัดนิรภัย โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
ทั้งนี้ ศปถ.จะได้นำแนวคิด แนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย ทั้ง 5 ประเด็น เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ข่าวเด่น