ซีพีไอ อะโกรเทค สยายปีก จับมือ เสถียรปาล์ม ลุยธุรกิจ ปาล์มน้ำมันครบวงจร ในภาคตะวันตก ยึด จังหวัดกาญจนบุรี เป็นยุทธศาสตร์ ผุดโรงงานสกัดครบวงจร พร้อมตั้งเป้าส่งเสริมเกษตรกร เพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม 70,000 ไร่ ภายใน 2 ปี
นายโกศล นันทิลีพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดและกล้าปาล์มน้ำมันซีพีไอ ไฮบริด เปิดเผยว่า สถานการณ์ความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาคการบริโภค และภาคพลังงาน โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในประเทศจึงผุดขึ้นแทบจะทุกภาคของประเทศ หากโรงงานไหนมีสวนปาล์มเป็นของตนเองจำนวนมาก และมีเครือข่ายที่ส่งผลผลิตปาล์มให้เยอะ ก็มีโอกาสที่จะผลิตได้เต็มอัตรากำลัง แต่หากโรงงานไหน ไม่มีสวนของตนเองแล้วเครือข่ายน้อย เราจึงพบเห็นปัญหาการแย่งผลผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การทุ่มตลาดซื้อ หรือ จัดโปรโมชั่น เพิ่มราคาหลังป้ายรับซื้อให้กับเครือข่าย เพื่อจูงใจให้มาขายกับโรงงานตนเอง บางโรงงานซ้ำร้าย ต้องรอตั้งรับจากคนเข้ามาขายอย่างเดียวจนต้องปิดกิจการ ดังนั้น การตั้งโรงงานสกัด นอกจากจะคำนึงในเรื่องการผลิต และบริหารต้นทุนแล้ว การส่งเสริมพื้นที่ตั้งแต่การปลูก ยังเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะโรงงานจะสามารถกำหนดทิศทางของการทำธุรกิจโรงสกัดของตนเองได้อย่างยั่งยืน
“ การจับมือกับ บริษัท เสถียรปาล์ม ในครั้งนี้ ซีพีไอฯ จะทำหน้าที่ในการวางระบบ ทั้งการผลิตที่นำมาตรฐาน ISO9001 ของบริษัทเข้าไปจัดการ พร้อมกับการลงพื้นที่ของทีมงาน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร มีความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการสวนปาล์ม โดยตั้งเป้าว่าในอีก 1-2 ปี ข้างหน้าต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงได้ถึง 70,000 ไร่ เพื่อที่จะมีปาล์มทะลายป้อนโรงงานของ เสถียรปาล์ม ถึง 45 ตัน/ชั่วโมง หรือประมาณ 1,000 ตัน/วัน ” นายโกศล กล่าว
ด้าน นายวิโรจน์ อุฬารเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสถียรปาล์ม จำกัด เปิดเผยว่า เดิมบริษัทอยู่ในธุรกิจหม้อแปลง และโรงงานหลอมทองแดง การกระโดดเข้ามาสู่ธุรกิจการเกษตรนั้น เนื่องจากมองเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ว่าสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ จึงเริ่มต้นจากการปลูกปาล์มนำร่องประมาณ 2,000 ไร่ ก่อนจะขยายไปสู่การลงทุนกว่า 300 ล้านบาท ในการจัดตั้งโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันครบวงจรในพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้าปาล์มน้ำมัน ซีพีไอ ไฮบริด ที่เข้ามาช่วยให้ความรู้เรื่องการปลูกปาล์ม ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว นอกจากนั้น ยังได้มองไกลไปถึงต้นน้ำในเรื่องการส่งผลผลิตเข้าโรงงาน จึงได้มอบหมายให้บุตรชายคือ คุณธนดล อุฬารเสถียร เป็นหัวหอกใหญ่ในการบริหารการส่งเสริมเพื่อขยายพื้นที่การปลูกปาล์ม โดยได้พาร์ทเนอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมของ ซีพีไอ ฯ เข้าร่วมมือกับทีมงานของบริษัท เพื่อทำการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้ปลูกปาล์มพันธุ์ดี โดยเลือกใช้พันธุ์ ซีพีไอ ไฮบริด
“ เหตุผลของการเลือกใช้พันธุ์ ซีพีไอ ไฮบริด เพราะเป็นพันธุ์ทีผ่านการปรับปรุงพันธุ์อย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ โดยผมเองได้เดินทางไปชุมพรเพื่อดูต้นพันธุ์ที่ปลูกจริงในพื้นที่ ทั้งของแปลงทดสอบ และแปลงของลูกค้าที่เริ่มให้ผลผลิตแล้ว เห็นชัดว่าผลผลิตมีสัดส่วนช่อดอกตัวเมียสูง แม้ในสภาพแล้ง ซึ่งเหมาะกับจังหวัดกาญจนบุรีเป็นอย่างมาก รวมไปถึงเปอร์เซ็นต์น้ำมันของ ซีพีไอ ไฮบริด เฉลี่ยเกือบถึง 30% ซึ่งผมถือว่าสูงมาก รวมไปถึงกระบวนการผลิต ที่มีระบบการตรวจสอบ และคัดกรองให้ได้เมล็ดและต้นกล้าที่ตรงตามสายพันธุ์แน่ๆ ผมจึงไม่ลังเลที่จะเริ่มเจรจา และคุยเรื่องแผนการรุกตลาดภาคตะวันตกนี้ร่วมกัน ” คุณธนดล กล่าว
จากบทสรุปดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การตั้งโรงงานสกัด นอกจากจะเก่งในเรื่องการผลิตและบริหารต้นทุนแล้ว การส่งเสริมพื้นที่ตั้งแต่การปลูกปาล์ม ถือเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะโรงงานจะสามารถกำหนดทิศทางของการทำธุรกิจโรงสกัดของตนเองได้อย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น